8 แบงก์รัฐออกมาตรการเร่งด่วน เยียวยาผลกระทบแผ่นดินไหว

30 มี.ค. 2568 - 05:53

  • สถาบันการเงินรัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ

  • ธปท.ขอความร่วมมือสถาบันการเงิน และ non-bank ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว

economic-business-thai-earthquake-loan-money-SPACEBAR-Hero.jpg

สถาบันการเงินรัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แผ่นดินไหว โดยมีรายละเอียดของมาตรการดังนี้

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศ 7 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหวพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม-สร้าง และจ่ายสินไหม รายละเอียดมีดังนี้

  1. สำหรับลูกค้าปัจจุบัน : ลดเงินงวดและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยพักชำระหนี้นาน 3 เดือน พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 0% ต่อปี 3 เดือนแรก และเดือนที่ 4 – 12 คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2.00% ต่อปี พร้อมลดเงินงวดลง 50%ของเงินงวดที่ชำระในปัจจุบัน โดยเมื่อครบระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ ลูกค้าสามารถกลับไปใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดิมต่อไป
  2. สำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ : กู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซม หรือปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม วงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1 – 3 เท่ากับ 0% ต่อปี พร้อมปลอดชำระเงินงวด
  3. สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
  4. สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้น เดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
  5. สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระ โดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)
  6. สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง และไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)
  7. พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติกับบริษัทประกันภัยที่ธนาคารจัดให้ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่ประสบภัยทุกราย อย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันสามารถแจ้งความเสียหายโดยใช้ภาพถ่าย จ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท

ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับสินเชื่อได้ที่สาขาของ ธอส. ได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 และลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2568 ” ในมาตรการที่ 1-4 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 และมาตรการที่ 5 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป รวมถึงผู้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อซ่อม – แต่ง สามารถยื่นคำขอกู้ได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ออกมาตรการ พักชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย 12 เดือน และเพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ รายละเอียดมีดังนี้

  1. มาตรการ “พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย” สำหรับลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามที่ราชการกำหนด เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับกลุ่มเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อแฟคตอริ่ง ขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปอีกสูงสุด 180 วัน และสามารถพักชำระดอกเบี้ยได้
  2. **มาตรการ “เติมทุนฉุกเฉิน เพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ”**สำหรับลูกค้าเดิมได้รับผลกระทบทางตรง ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภัยพิบัติตามที่ราชการกำหนด เพื่อให้มีวงเงินกู้ฉุกเฉิน นำไปฟื้นฟูธุรกิจเฉพาะหน้า วงเงินกู้ 10% ของวงเงินเดิม ขั้นต่ำ 30,000 บาท สูงสุด 200,000 บาท (บุคคลธรรมดา สูงสุด 100,000 บาท และนิติบุคคล สูงสุด 200,000 บาท) อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน ยกเว้นค่าธรรมเนียม ลดกระบวนการนำส่งเอกสารในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางตรงเป็นการเร่งด่วน

ผู้ประกอบการ SME สามารถแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สาขาของ SME D Bank ทุกแห่งทั่วประเทศ 

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ออกมาตรการ พักชำระค่าธรรมเนียม 6 เดือนสำหรับลูกค้า และพักชำระค่างวดจ่ายหนี้ 3 งวดสำหรับลูกหนี้ รายละเอียดมีดังนี้

  1. มาตรการช่วยลูกค้า บสย. พักชำระค่าธรรมเนียมและค่าจัดการค้ำประกัน 6 เดือน สำหรับ SMEs ลูกค้า บสย. ที่ถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และค่าจัดการค้ำประกัน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 30 เมษายน 2568
  2. มาตรการช่วยลูกหนี้ บสย. พักชำระค่างวด 3 งวด สำหรับลูกหนี้ บสย. (ผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชย) ที่อยู่ในระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ผิดนัดชำระหนี้ โดยสามารถยื่นคำขอพักชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-30 เมษายน 2568 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออกมาตรการเติมสภาพคล่อง-ผ่อนปรนดอกเบี้ย-พักหนี้ รายละเอียดมีดังนี้

  1. มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะสั้น ได้แก่ ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงินหมุนเวียนเดิม ทั้งนี้ ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม เปลี่ยนแปลงภาระหนี้ระยะสั้นเป็นภาระหนี้ระยะยาว ผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี
  2. มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว ได้แก่ ขยายระยะเวลาวงเงินกู้ สูงสุด 7 ปี ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปีแรกลง 0.5% หรือจ่ายดอกเบี้ยเพียง 50% ในช่วง 6 เดือนแรก พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 1 ปี Top up วงเงินสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น

โดยช่องทางเข้าร่วมมาตรการ ลงทะเบียนผ่าน www.exim.go.th และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดสินเชื่อฉุกเฉิน-ฟื้นฟู วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท รายละเอียดมีดังนี้

  1. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.725%)
  2. โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR ลบ 2 % ต่อปี

สำหรับช่องทางขอรับสินเชื่อ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึง 30 กันยายน 2568 ที่ ธ.ก.ส. ใกล้บ้านท่านทุกสาขาทั่วประเทศ 

ธนาคารออมสิน

  • มาตรการแบ่งเบาภาระลูกหนี้ปัจจุบัน สำหรับสินเชื่อบ้าน สินเชื่อธนาคารประชาชน และสินเชื่อ SMEs โดยพักชำระเงินต้นทั้งหมด และลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 สูงสุดเป็นระยะเวลา 3 เดือน
    มาตรการสินเชื่อเพื่อกู้ซ่อมแซมบ้าน กู้ฟื้นฟูกิจการ สำหรับลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่
    - สินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินกู้สูงสุด 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 สูงสุดเป็นระยะเวลา 3 เดือน
    - สินเชื่อกู้ซ่อมแซมบ้าน และสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 สูงสุดเป็นระยะเวลา 3 เดือน

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)

  • มาตรการไอแบงก์ไม่ทิ้งกัน
    ลูกค้าเดิม : พักชำระเงินต้นและกำไรสูงสุด 6 เดือน
    ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ : สามารถขอสินเชื่อ เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือฟื้นฟูกิจการ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตรากำไรต่ำสุดร้อยละ 1.99 ในปีแรก และระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 20 ปี
     

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

  1. มาตรการแบ่งเบาภาระลูกค้าสินเชื่อปัจจุบัน ลดค่างวดร้อยละ 75 ของค่างวดปัจจุบัน (ชำระเพียงร้อยละ 25) เป็นระยะเวลา 1 ปี  โดยลูกหนี้บ้านและ SMEs คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 33 เดือน และ ลูกหนี้บุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี
  2. มาตรการสินเชื่อเพื่อกู้ ซ่อมบ้าน/กู้ ฟื้นฟูกิจการ 
    บ้าน และ SMEs คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0 เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้น คิดดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 33 เดือน และ 2) ลูกค้าบุคคล คิดดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี

นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่มิใช่สถาบันการเงิน ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวดังกล่าวตามความเหมาะสมโดยเร่งด่วน โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

  1. สินเชื่อบัตรเครดิต สามารถพิจารณาปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ต่ำกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนดได้ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่พื้นที่นั้น ๆ ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย
  2. สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล สามารถพิจารณาเงื่อนไขวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินให้เกินกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนดได้ เพื่อให้ลูกหนี้มีแหล่งเงินทุนฉุกเฉินเพียงพอสำหรับการฟื้นฟูความเสียหายอันเนื่องมาจากปัญหาสาธารณภัย โดยให้อนุมัติวงเงินดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไม่เกิน 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่พื้นที่นั้น ๆ ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย
  3. สินเชื่อทุกประเภท สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อได้ รวมถึงการปรับเงื่อนไข เช่น ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยให้อนุมัติวงเงินดังกล่าวโดยเร็ว ไม่เกิน 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่พื้นที่นั้น ๆ ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์