ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน โพสต์เฟซบุ๊ก ที่มีเนื้อหาถึงร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยเนื้อหาระบุว่า นี่คือ “ซุปเปอร์พ.ร.บ.” ที่เหนือกว่าพ.ร.บ.ใด ๆ ทั้งปวง
เผยร่างแรกออกมาแล้วครับ ร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ฉบับเมดอินกฤษฎีกา
ในภาพรวม สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากฉบับก่อน ๆ เท่าใดนัก ยังคงให้เปิดเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ได้หลายที่ หลายขนาดได้เหมือนเดิม และยังคงเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่ยัดไส้กาสิโนไว้เช่นเดิมเพราะยังคงเขียนล็อคว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ให้ประกอบไปด้วยกิจการต่าง ๆ 4 กิจการ ร่วมกับกาสิโน นั่นคือ ต้อง “กาสิโน + 4 กิจการ = เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”
นอกจากนี้กฎหมายก็ยังคงลักษณะเด่นแบบเดิมอยู่ คือ “ตีเช็คเปล่า” ให้คณะกรรมการนโยบาย หรือซุปเปอร์บอร์ดที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจมหาศาล ทั้งการกำหนดที่ตั้ง กำหนดอัตราภาษี กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาต หรือการจะออกใบอนุญาตให้นายทุนรายใดถือใบอนุญาตได้ยาวสุด 30 ปี และอื่น ๆ ยังคงอำนาจอยู่ที่คณะบุคคลนี้
ที่เป็นประเด็นใหม่ คือ การขยายความเพิ่มเติมเรื่องการกำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโนในเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยเพิ่มข้อความว่า “ต้องไม่เกินร้อยละสิบของที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร” นั่นคือ ยิ่งที่ดินขนาดกว้างขวางเท่าไร กาสิโนยิ่งมีขนาดกว้างขวางตาม น่าสังเกตว่าตัวเลขร้อยละสิบที่เคยเป็นลมปากของผู้มีอำนาจทางการเมืองช่างบังเอิญตรงกับความใจของคณะกรรมการพ่อครัวหัวป่าก์ชุดนี้เสียนี่กระไร
สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าความเหมือนเดิม คือ มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มเติมไปจากเดิมบ้างหรือเปล่า?
ต้องยอมรับในฝีมือของผู้เขียนกฎหมาย ที่แสดงฝีมือการปรุงเหล้าเก่าใส่ขวดใหม่ได้อย่างลึกล้ำ ด้วยวิธีการเปลี่ยนขวดเดิมที่ใสจนมองเห็นสุราภายในชัดเจน เป็นขวดใหม่ที่ทึบแสง เพื่อแปลงสารหลายประเด็นที่เคยเห็นโจ่งแจ้งให้นวลเนียนมากขึ้น กลายเป็น “เหล้าเก่าในขวดทึบ” ไปเสียอย่างนั้น
ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นหนึ่งที่เคยถูกวิจารณ์ว่า รายได้จากบรรดาค่าธรรมเนียมหลายพันล้านจากการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงครบวงจร ที่ไม่เขียนผูกมัดให้ต้องส่งเข้าแผ่นดิน มาตรานี้ถูกตัดหายไป แต่สาระสำคัญยังคงอยู่ ด้วยวิธีเขียนที่ฉีกประเด็นและการใช้ถ้อยคำที่ต่างไปจากเดิม แต่ก็ยังคงความหมายที่ต้องการคือ**“ให้นำเงินหลักพันล้านนี้ไปใช้ได้ตามอำเภอใจ เหลือเท่าไรค่อยส่งเข้าแผ่นดิน”**
หากพิจารณาตัวเลขของจำนวนมาตราของกฎหมาย จะพบว่าร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ฉบับใหม่มีจำนวนมาตราเพิ่มขึ้น จากร่างเดิมมี 65 มาตรา เพิ่มมาอีก 14 มาตรา กลายเป็น 79 มาตรา แต่เมื่อมาดูจำนวนหมวดของกฎหมายกลับพบว่าจำนวนหมวดกลับมีน้อยลง จากฉบับเดิมมี 9 หมวด แต่ฉบับนี้เหลือ 6 หมวด นั่นแปลว่ามีการยุบรวมบางประเด็นที่เดิมเคยแยกอยู่คนละหมวด มารวมมิตรให้อยู่ในหมวดเดียวกัน ด้วยเหตุผลบางประการ ที่ประชาชนคนนอกคงไม่อาจรู้ได้
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ กฎหมายฉบับนี้น่าจะถือเป็น “ซุปเปอร์พ.ร.บ.” ที่เหนือกว่าพ.ร.บ.อื่น ๆ หลายฉบับ โดยเห็นได้ในหลายช่วงหลายตอนของร่างพ.ร.บ.
-
การเพิ่มหมวด 1 บททั่วไป ซึ่งร่างเดิมไม่มี สาระสำคัญของหมวดนี้อยู่ที่มาตรา 8ที่มีสาระสำคัญว่า “ให้หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการตามแผนพัฒนาเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยให้จัดสรรงบประมาณ และจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสม และสนับสนุนด้านอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และให้ร่วมกันสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการประกอบกิจการ โดยลดขั้นตอนการประกอบธุรกิจให้มีความสะดวกรวดเร็ว และให้ส่งเสริมสนับสนุนสถาบันการเงินทั้งของไทยและต่างประเทศในการให้บริการทางการเงินเพื่อให้การพัฒนาเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มีความสะดวก รวดเร็ว และมีข้อจำกัดเพียงเท่าที่จำเป็น”
-
มาตรา 12 สาระสำคัญว่า “หากกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใด ก่อให้เกิดความไม่สะดวก หรือล่าช้า หรือเป็นการเพิ่มภาระการดำเนินการโดยไม่จำเป็น ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้มีการปรับปรุง หรือมีกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อให้การดำเนินการจัดตั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว” (จริง ๆ มาตรานี้มีมาตั้งแต่ร่างสองฉบับแรก แต่ยังไม่เคยมีการนำภาพจิ๊กซอว์มาต่อกัน)
-
กฎหมายฉบับนี้จัดเป็น “พ.ร.บ.จอมยกเว้น” เพราะมีการยกเว้นมิให้นำความในกฎหมายอื่นหลายฉบับมาบังคับใช้ โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญ เช่น ยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งที่เกี่ยวกับการเช่าที่ดินที่มีขนาดเกิน 100 ไร่ ยกเว้นพ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม เพื่อให้มาใช้กฎหมายฉบับนี้ที่ให้สามารถเช่าที่ดินได้ยาวถึง 99 ปี ที่สำคัญยังให้ยกเว้นกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดหาประโยชน์จากที่ราชพัสดุ เพื่อให้สามารถเช่าที่ดินราชพัสดุได้ 99 ปีเช่นกัน
-
อีกกรณีคือ ให้ยกเว้นคำสั่งคสช. ที่ 22/2558 ที่เกี่ยวกับการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ซึ่งกินความหลายประเด็น ทั้งการเปิดบริการเกินเวลา การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเวลา การก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญทางเสียงแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง เป็นต้น
-
ที่ยิ่งใหญ่กว่าก็คือ เรื่องการพนันในกาสิโน ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการพนัน โดยให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายสามารถประกาศประเภทการพนันเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมได้ รวมทั้งการมีหนี้จากการพนันในกาสิโน ก็ให้เป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย โดยยกเว้นประมาลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่าด้วยหนี้ มาใช้กฎหมายนี้แทน
ประเด็นสุดท้ายที่อยากตั้งข้อสังเกต คือ การกล่าวถึงบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำกับกิจการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งมีจุดที่น่าสนใจอย่างน้อย 2 จุด คือ
หนึ่ง การตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย เรื่องนี้มีการเขียนขยายความเพิ่มมาจากร่างฉบับที่แล้ว โดยเพิ่มถ้อยคำว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมายให้คณะอนุกรรมการทำการแทนคณะกรรมการนโยบาย ให้ถือว่าการดำเนินการของคณะอนุกรรมการเป็นการดำเนินการของคณะกรรมการนโยบาย” แปลกมั้ย ... ใครว่าไม่แปลกผมว่าแปลก เพราะคณะกรรมการนโยบายชุดนี้มีอำนาจสูงมากอย่างที่กล่าวมา แล้วอยู่ดี ๆ กฎหมายกลับเปิดช่องให้ตั้งคณะอนุกรรมการได้ โดยไม่ได้ระบุคุณสมบัติใด ๆ ของบุคคลที่จะมาเป็นอนุกรรมการไว้แม้แต่น้อย
สอง เรื่องของเลขาธิการสำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ร่างฉบับใหม่นี้มีสาระเพิ่มเติม คือ ให้มีรองเลขาธิการได้ตามจำนวนที่คณะกรรมการบริหารกำหนด ที่น่าสนใจคือ คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการและรองเลขาธิการ สามารถเป็นผู้เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เพียงแต่ต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารหรือผู้จัดการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาสิโนก็ได้ ขอเพียงให้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี .... ใครว่าไม่แปลกผมว่าแปลก ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานกำกับกิจการกาสิโน แต่กลับให้มีสายสัมพันธ์กับกาสิโนหรือการเมืองได้
จะเห็นได้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีเจตนาจะให้อำนาจพิเศษเหนือกฎหมายอื่น เพื่อเอื้ออำนวยให้กิจการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ “เกิดได้ เกิดง่าย เกิดเร็ว และเอื้อประโยชน์อย่างสุด ๆ แก่ผู้ประกอบการ”
ในขณะที่สิ่งที่ขาดหายไปอย่างใหญ่หลวงของกฎหมายคือ ระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รวมถึงการให้ความสำคัญที่ไม่เท่ากันระหว่างการเอาประโยชน์กับการป้องกันปัญหาและผลกระทบ สะท้อนความคิดที่จะ “เอาแต่ได้” โดยใส่ใจน้อยมากต่อ “ผลเสีย” ที่จะเกิดตามมา
นี่คือการเผยร่างแรกของพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ฉบับเร่งรัดกฤษฎีกา ร่างแรกยังเห็นเนื้อในเทา ๆ ขนาดนี้ ร่างต่อไปจะมีอีกมั้ย และจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตาม