กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเพจเฟซบุ๊ก Patrick Mini Luke รองลงมาคือเรื่อง ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อสำหรับคนมีหนี้ รับสูงสุด 30,000 บาทโดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ-แชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสูญเสียทั้งข้อมูลส่วนบุคคล และทรัพย์สิน โดยอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 17– 23 มกราคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 839,286 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 665 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 640 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 18 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 7 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 267 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 77 เรื่อง โดยในจำนวนนี้เป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเพจเฟซบุ๊ก Patrick Mini Luke
อันดับที่ 2 : เรื่อง ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อสำหรับคนมีหนี้ รับสูงสุด 30,000 บาท
อันดับที่ 3 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิด TikTok สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนกองทุนหลักทรัพย์โอ้กะจู๋
อันดับที่ 4 : เรื่อง บัญชีไลน์แอบอ้างเป็นผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ชักชวนลงทุน
อันดับที่ 5 : เรื่อง SET Trader เป็นเพจเฟซบุ๊กใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำขึ้น
อันดับที่ 6 : เรื่อง กรมการขนส่งทางบกเปิดเพจเฟซบุ๊ก บริการต่อใuขับขี่-จำกัด เพื่อรับทำใบขับขี่ออนไลน์
อันดับที่ 7 : เรื่อง ก.ล.ต. เปิดให้ลงทุนกองทุน SET 50 ประเภทระยะสั้น มีผู้เชี่ยวชาญดูแลจนจบ
อันดับที่ 8 : เรื่อง บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ เสนอขายหุ้น เริ่มต้นพอร์ตหลักพัน ปันผลสูง 35%
อันดับที่ 9 : เรื่อง กรมการขนส่งทางบกเปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ชื่อ สำนักงานขนส่ง/กรุงเทพมหานคร พื้นที่.4
อันดับที่ 10 : เรื่อง กรมการขนส่งทางบก เปิดเพจเฟซบุ๊ก หลักสูตร-ขับขี่ปลอดภัย
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเพจเฟซบุ๊ก Patrick Mini Lukeกระทรวงดีอี ได้ประสานงานตรวจสอบร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ และขอชี้แจงว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ไม่ได้เปิดเพจดังกล่าว โดยได้มีการแอบอ้างนำโลโก้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ไปใช้เป็นภาพโปรไฟล์และภาพหน้าปกเฟซบุ๊ก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและจงใจหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ