ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ปี 2568 ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัว 3.1% มาจากด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลชะลอตัว รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง
ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.6% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวในทุกหมวดสินค้า โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 1.9% ชะลอลงจาก 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการใช้จ่ายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ
การลงทุนรวม ขยายตัว 4.7% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 5.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องเป็นไตรมาส 3 ที่ 26.3% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 39.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการลงทุนรัฐบาล ในขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลง สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 12.8%
ด้านการลงทุนภาคเอกชน ลดลง 0.9% ลดลง 2.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือลดลง 0.3% ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.8 ต่อเนื่องจากการลดลง 3.9% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 2.6% การอุปโภคภาครัฐขยายตัว 3.4% การก่อสร้างขยายตัว 16.2%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 1.3 – 2.3% (ค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 1.8) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายลงทุนภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง
อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปียังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคเกษตร
ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคจะขยายตัว 2.4% และการลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.7% ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 1.8% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.0 – 1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของจีดีพี