'สุริยะ' โต้ปมแก้สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

25 มี.ค. 2568 - 08:00

  • ยันไร้เอื้อเอกชน หากข้องใจโทร. หา-มาที่กระทรวงได้

  • บิดเบือนข้อมูลจากจินตนาการ

  • ไม่ทราบว่าผู้อภิปราย กำลังอภิปรายรัฐบาลไหน

economic-business-thai-highspeed-rail-airports-SPACEBAR-Hero.jpg

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ลุกขึ้นชี้แจงกรณีที่สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.)  กล่าวหากรณีแก้สัญญาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้เอกชนคว้าสัมปทานไปได้ก่อน แล้วค่อยหาประโยชน์เพิ่มด้วยกันแก้สัญญา และการขยายสัมปทานทางด่วนและที่ระบุให้เอกชนได้สิทธิ์กินเต็มอิ่ม แล้วเมื่ออยากกินต่อ จึงขอขยายสัมปทานไปเรื่อยว่า ตนเองนั่งรับฟังการอภิปราย หลายคนคงรู้สึกเช่นเดียวกันว่า ผู้อภิปรายมีความพยายามสร้างเรื่องราวบิดเบือนข้อเท็จจริง จากจินตนาการของท่าน จนทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า มีการวางแผนการนี้ไว้ล่วงหน้า เพื่อเอื้อประโยชน์กับเอกชนคู่สัญญา หรือการที่พยายาม เล่นคำว่า “ซูเปอร์ดีล” โดยบิดเบือนข้อมูล เอามูลค่าที่สูงกว่ามูลค่าโครงการมาพูดว่า เป็นแสนแสนล้านบาท นั้นก็ล้วนแล้วมาจากการจินตนาการลอย ๆ ทั้งนั้น

“ผมยืนยันว่าการอภิปรายทั้ง 2 โครงการนั้น เป็นการกล่าวหาเพียงลอย ๆ และตนเห็นด้วยกับคำพูดของนายกรัฐมนตรี ที่ระบุ ไม่ทราบว่าผู้อภิปราย กำลังอภิปรายรัฐบาลไหน เนื่องจากเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น เกิดก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารงานด้วยซ้ำ โดยทั้ง 2 โครงการนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการต่างๆ ยังไม่ได้มีการเสนอถึงคณะรัฐมนตรี และยังไม่ถึงมือของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นการที่ผู้อภิปรายเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตอบคำถาม จึงเป็นไปไม่ได้ นายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาตอบชี้แจง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องแทน ย้ำว่า รัฐบาลยังไม่มีการอนุมัติให้ดำเนินการแต่อย่างใด เพราะยังต้องมีการพิจารณาร่วมกันกับอีกหลายหน่วยงาน เพื่อให้รัฐไม่เสียประโยชน์อย่างแน่นอน”

รมว.คมนาคม กล่าวถึงการที่ผู้อภิปราย ระบุ มีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเอื้อสัญญา หรือมีการพยายามพูดให้เข้าใจว่า มีผู้ใหญ่ มีนายใหญ่ หรือมีนายน้อย สั่งการอยู่เบื้องหลังว่า ขอยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัว กับคู่สัญญาของทั้ง 2 โครงการแต่อย่างใด แล้วจะไปมีการเอื้อประโยชน์ให้ได้อย่างไร ในทางตรงกันข้ามพยายามแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและภาครัฐ ทั้งเรื่องการจราจรที่ติดขัด ค่าผ่านทางแพง และโครงการที่ลงทุนไว้แล้ว แต่ดำเนินการต่อไปไม่ได้ ให้สำเร็จลุล่วง โดยยึดประโยคของประชาชน และภาครัฐเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นไม่มีแน่นอนที่ผู้อภิปราย มโนว่าเป็นซูเปอร์ดีลแสนล้าน

นอกจากนี้ยังชี้แจงต่อในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า มีการทำสัญญามาตั้งแต่ในอดีต โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการไปเมื่อวันที่  27 มี.ค. 61 และลงนามสัญญาร่วมทุน วันที่ 24 ต.ค. 62 แต่รัฐบาลนี้เข้ามาเป็นบริหาร เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 ซึ่งมีเวลาต่างกันอยู่ถึง 5 ปียืนยันว่า ตนเองไม่ใช่ส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหา แต่ตนเองเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา เวลาทันทีที่ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็พบว่าโครงการนี้มีปัญหาด้านสัญญา จึงแก้ปัญหาเพื่อทำให้สัญญาสามารถเดินต่อไปได้ ดังนี้ EEC มีการลงทุนจากภาคเอกชนไปแล้วกว่า 1.8 ล้านล้านบาท หากถอยโครงการนี้ประเทศจะเสียหายมาก และเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นก่อนสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนด้วย นอกจากนั้นยังมีกรณีที่เอกชนไม่สามารถชำระค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตลิงค์ได้ตามกำหนด แต่เพื่อไม่ให้โครงการหยุดชะงัก คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย EEC และเอกชน เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหา จากนั้นจึงมีการทำ MOU  ซึ่งกำหนดให้เอกชนต้องรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการเดินรถ การบำรุงรักษา และรับความเสี่ยงทั้งหมด ในส่วนของเงื่อนไขสัญญา ซึ่งมีการเซ็นไว้ก่อนนั้น ก็เดินต่อไม่ได้

รมว.คมนาคม กล่าวว่า โดยการแก้ปัญหาในส่วนนี้มีเพียง 2 ทาง คือการแก้ไขสัญญา หรือยกเลิกสัญญาเพื่อประมูลใหม่ ซึ่งการยกเลิกสัญญานั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย นอกจากนั้น หากเกิดการประมูลใหม่ ก็อาจเกิดการฟ้องร้องด้านกฎหมาย และทำให้โครงการหยุดชะงัก 

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาร่วมลงทุนที่ถูกกล่าวหาว่า มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ยืนยันว่าโครงการนี้ยังเป็นรูปแบบ PPP Net Cost เหมือนเดิม และเอกชนยังเป็นผู้รับความเสี่ยงเหมือนเดิม ย้ำว่า รัฐไม่ได้เสียประโยชน์แต่อย่างใด ทั้งยังสามารถทำให้รัฐประหยัดดอกเบี้ยได้อีก รวมถึงการที่เอกชนจะต้องโอนสิทธิ์ความเป็นเจ้าของให้รัฐ เมื่อได้รับเงินร่วมลงทุน ซึ่งจะช่วยให้โครงการเกิดความมั่นคง หากเอกชนรายดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการต่อได้ รัฐก็ยังสามารถหาเอกชนรายใหม่มาดำเนินการต่อ ไม่เป็นปัญหาเหมือนโฮปเวลล์ในอดีต ดังนั้น ตนขอยืนยันอีกครั้งว่า การแก้ไขปัญหาตามหลักการ จะทำให้รัฐมีความเสี่ยงลดลง จ่ายเงินร่วมลงทุนเท่าเดิม ได้ค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตลิงค์เท่าเดิม

ส่วนการขยายสัมปทานทางด่วน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนนั้น ขอปฏิเสธว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่ต้องการแก้ไขปัญหาการจราจรให้กับประชาชน ที่สัญจรผ่านทางด่วนเส้นนี้ทุกวัน และพบว่าประชาชนที่ใช้ทางด่วน ยังต้องเผชิญกับปัญหารถติดเป็นอย่างมาก ทั้งยังต้องจ่ายค่าผ่านทางที่แพงมาก ดังนั้น โครงการนี้คือการเพิ่มช่องจราจร ให้สามารถแยกรถที่เดินทางใกล้และไกลออกจากกัน และไม่ต้องเว้นคืนที่ดินจากประชาชน ยืนยันว่า เป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากรัฐบาลในอดีต โดยหากโครงการ Double Deck แล้วเสร็จ จะสามารถรับระยะเวลาการเดินทางบนทางด่วนได้ และทำให้ความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางเพิ่มขึ้น สิ่งเมื่อคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว จะสูงถึงประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าไม่สร้างตอนนี้ รอสัมปทานสิ้นสุดแล้วค่อยสร้าง ประชาชนก็ยังจะคงเดือดร้อนไปอีกนับ 10 ปี ประเทศชาติเสียโอกาส ตนเองยอมไม่ได้ 

รมว.คมนาคม กล่าวต่อว่า สำหรับค่าก่อสร้างของโครงการ ที่มีมูลค่ามากกว่าการสร้างทางด่วนชั้นเดียวนั้น เนื่องจากโครงการนี้ มีการใช้เทคนิควิศวกรรมชั้นสูง ก่อสร้างสูงกว่าทางด่วนเดิม เนื่องจากด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถขยายทางด่วนเดิมได้ ส่วนการลดค่าผ่านทาง เหลือ 50 บาทนั้น ก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน กระทรวงไทยคมนาคมและกรมการทางพิเศษ จึงวิเคราะห์ใช้กับโครงข่ายทางด่วนในเขตเมืองเป็นอันดับแรก ซึ่งถือเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ใช้ทางด่วนทั้งหมด สำหรับการชี้แจงรายละเอียดโครงการ ทราบว่ากรมการทางพิเศษได้มีการเข้าให้ข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว โดยไม่มีการถูกกล่าวหาว่าการดำเนินการในครั้งนี้ มิชอบแต่อย่างใด รวมถึงได้มีการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ แล้ว ซึ่งได้เปิดเผยรายละเอียดที่สามารถเปิดเผยได้ไปแล้ว ยกเว้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเอกชน เนื่องจากเอกชนได้แจ้งสงวนสิทธิ์ไว้ ยืนยันว่าไม่มีการสั่งการให้ทำตามระเบียบ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ในทุกขั้นตอน ไม่มีการปกปิดข้อมูล

อย่างไรก็ตาม หากผู้อภิปรายมีข้อแนะนำเรื่องใด ในภารกิจของกระทรวงคมนาคม หรือต้องการข้อมูลอะไร ที่ยังไม่มีความชัดเจน หรือมีข้อสงสัยเรื่องใดประการใด ก็สามารถไปพบหรือติดต่อโทรศัพท์หาตนได้ ที่กระทรวงคมนาคม แต่นายสุรเชษฐ์ ไม่เคยเข้าไปที่ กระทรวงคมนาคมสักครั้งเดียว ยันว่า ต้องการข้อมูลที่เต็มประโยชน์ต่อประชาชน ตนจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

ขณะที่ สุรเชษฐ์ ขอใช้สิทธิ์พาดพิง เนื่องจาก มีการกล่าวหาว่า ตนเองบิดเบือนจินตนาการลอย ๆ ทำให้เกิดความเสียหาย จึงขอให้ประธานได้ชี้แจง

ทำให้ภารดร ประธานการประชุม ชี้แจงว่า จากที่ฟังรัฐมนตรีพูด มีการพาดพิงแค่ประเด็นเดียว คือเรื่องที่สุรเชษฐ์ไม่เคยไปกระทรวง ส่วนประเด็นอื่นที่สุรเชษฐ์กล่าวหารัฐมนตรีเมื่อวานนี้ รัฐมนตรีจึงมาชี้แจงในวันนี้ ถ้าถามตอบไปมา เราไม่ได้อยู่ในวาระกระทู้ และจะไม่จบ จะกินเวลาเพื่อน จึงอนุญาตให้ตอบประเด็นเดียว

สุรเชษฐ์ กล่าวต่อในเรื่องหนังสือเชิญ ว่า จะให้ผมเดินไปเกาะโต๊ะท่านรัฐมนตรีหรือ ผมรอหนังสือเชิญจากท่าน วันนั้นเราก็มีการคุยกันแบบนี้ ผมยินดีไปกระทรวง แต่ต้องทำหนังสือเชิญมา และจะให้ดี ก็ให้มีสื่อมวลชน ไปเป็นสักขีพยานด้วย เดี๋ยวจะหาว่า ไปเกาะโต๊ะเคลียร์กัน ในมุมกลับกัน ตนทำอย่างตรงไปตรงมา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ที่เรียกมาชี้แจงที่สภา นายสุริยะก็ไม่เคยมา แม้แต่ตั้งกระทู้สดในสภา นายสุริยะก็เบี้ยว แล้วทุกครั้งก็ส่ง นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม มาแทน อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณรัฐมนตรีช่วยคมนาคมที่มาตอบแทน แต่หลาย ๆ ครั้ง ก็ตอบไปอย่างที่ท่านไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้กำกับดูแลโดยตรง เช่นกรณีล่าสุด ในกระทู้ถาม คานถล่มพระราม 2 ส่วนเรื่อง คำถามที่ตนเคยถามไว้ ตนยังต้องการข้อสรุปเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอยู่ว่า ถ้าไม่เลื่อนไม่แก้ตอนนี้ จะเอาอย่างไร จะปล่อยให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายด้วยการเลื่อนเพื่อแก้ใช่หรือไม่ สำหรัยคำถามเรื่องสัมปทานทางด่วนนั้น การที่รัฐบาลนี้ กำลังเพิ่มไปถึงปี 2601 คือขยายแบบข้ามศตวรรษไปใช่หรือไม่ ย้ำว่า ตนไม่ได้บิดเบียน แต่ได้เห็นร่างสัญญาแล้ว ท่านจะทำอย่างนั้นจริง ๆ หรือไม่

รมว.คมนาคม ชี้แจงอีกครั้ง ในข้อกล่าวหาเบี้ยวตอบกระทู้ว่า ตนได้มอบหมายให้นางมนพร มาตอบแทน เนื่องจากในวันนั้น ตนติดภารกิจ ส่วนการแก้ไขสัญญานั้น ยอมรับว่า เคยระบุจริงว่าจะไม่เลื่อน แต่เมื่อได้มีการพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเลื่อน ไม่ได้ทำโดยไม่มีเหตุไม่มีผล

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์