กองทุน USO หรือ (กองทุนเพื่อ) บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม มาจาก Universal Service Obligation ตั้งโดย กสทช. หรือ NBTC องค์กรกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ วิทยุ และโทรคมนาคม จุดประสงค์ คือ เอาเงินที่ได้จากผู้ที่เอาคลื่นความถี่ของรัฐไปทำธุรกิจ กลับมาทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการจากคลื่นความถี่ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลหรือที่ภาคเอกชนไม่สามารถให้บริการได้
แนวคิด USO เป็นไอเดียที่ดี ทำให้ผู้ให้บริการที่ประมูลคลื่นไปได้ ต้องพัฒนาเครือข่ายให้เข้าถึงทุกคนในสังคมมีหลักประกันว่าทุกคนในสังคมจะได้เข้าถึงบริการ แต่ไอเดียที่ดีพอเอามาบริหารแบบไทย กองทุน USO จึงมีผลงานธรรมดา หลายโครงการที่ได้เงินจาก USO มีแต่ภาพแต่ใช้งานไม่ได้ ภาพอุปกรณ์สื่อสารติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล ทำให้คนเห็นเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตมาแล้ว แต่ความจริงไม่เคยมีคนในชุมชนได้ใช่อินเทอร์เน็ตจากอุปกรณ์นั้นเลย
USO เป็นกองทุนแบบไทย ที่ใช้ ‘ระบบเลือกทำหรือเลือกจ่าย’ (Pay or Play) หากจะขอเงินจาก USO เริ่มจากเขียนโครงการว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ให้ได้ชื่อว่าเอาบริการสื่อสาร หรือเครือข่ายที่มี ไปช่วยคน การอนุมัติวงเงินแต่ละปี มาจากแผนงานที่ กสทช. ทำแผนงานรวม ที่เอาหลายโครงการรวมไว้ด้วยกัน ทำแผนงานเสร็จแล้ว ส่งไปขอบอร์ดอนุมัติ ได้เงินมาทำโครงการ ดูแล้วน่าจะง่าย น่าจะดี น่าจะโปร่งใส แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น
USO ตั้งในปี 2555 มีเงินทุนระดับหมื่นล้านบาท แต่ USO ไม่เคยถูกจดจำว่าเป็นกองทุนที่ช่วยดูแลคนไทยได้จริง ๆ เหตุผลที่ทำให้ USO มีผลงานแสนธรรมดา เพราะ
- เอาเงินไปใช้เกินจุดประสงค์กองทุน
- บริหารโครงการไม่มีประสิทธิภาพไม่โปร่งใส
- โครงการที่ทำไม่มีคนตรวจสอบ ขาดการมีส่วนร่วม
การเอาเงินไปใช้ นอกจุดประสงค์ของกองทุน USO เพื่อการเข้าถึงบริการ (ทั้งทีวี วิทยุ สื่อสาร) โดยทั่วถึง มีคนเคยประชดว่าเป็นเพราะจุดประสงค์ที่เขียนกว้างเกินไป ‘เข้าถึงบริการโดยทั่วถึง’ จึงถูกตีความได้กว้างจนออกนอกเรื่อง หลายครั้งที่มีการเสนอโครงการติดตั้งอินเทอร์เน็ตในหน่วยงานของรัฐอ้างว่าใช้บริการประชาชน ทั้งที่การติดตั้งอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยพื้นฐานในการทำงานที่หน่วยงานต้องติดตั้งอยู่แล้ว ไม่ได้ช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการอะไรเลย
ปัญหาการบริหารโครงการ สำหรับ USO มักเกิดกับโครงการที่ใช้เงินต่อเนื่องหลายปีต่อ เช่น การติดตั้งอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล หรือเน็ตชายขอบที่เข้าสู่ใจกลางจุดประสงค์ของ USO แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การสร้างสถานีฐาน อาคารเก็บอุปกรณ์ที่ไม่เสร็จตามระยะเวลา มีอุปกรณ์แต่ยังไม่ได้เชื่อมต่อจึงไม่ได้ขยายโอกาสถึงชายขอบตรงไหน
สำหรับการทำโครงการที่ขาดการเชื่อมโยงกับประชาชนในพื้นที่ ตรวจสอบไม่ได้ มักเกิดขึ้นกับหลายครั้งที่หน่วยราชการขอเงินไปใช้ ทำโครงการ ที่อยากทำ ต้องทำ เช่นการขยายโอกาส ในการ เข้าถึง บริการทางสาธารณสุข การเรียนการสอน การใช้งานระบบเกษตรช่วยเพิ่มผลผลิต คงไม่ต้องบอกว่าเจ้าของคือใคร เพียงแต่ขอเงินซื้อของ เอาของไปวาง เอาเสาไปติด แต่ไม่มี หมอใช้งาน ไม่มีครูใช้สอน ไม่มีช่องทางให้เกษตรกรใช้เครื่อง งบประมาณร้อยล้านพันล้านที่ลงไปจึงไม่เกิดผบอะไร
นี่คือเหตุผบที่ USO เป็นกองทุนที่ถูกลืม หรือไม่รู้จัก มีเงินเป็นหมื่นล้านบาท เงินจากทุนธุรกิจที่ ไปไม่ถึงประชาชน ไม่สร้างความ ทั่วถึงเท่าเทียม เป็นแค่เงินเพื่อใครบางคนเท่านั้น