เลี้ยงกุ้งทะเลคาร์บอนต่ำ พลิกโฉมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย

13 ก.พ. 2568 - 07:40

  • เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

  • ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน

  • ยกระดับผลผลิตทางการเกษตร

economic-business-thai-low-carbon-aquaculture-SPACEBAR-Hero.jpg

บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การใช้เทคโนโลยี Agri-tech มาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยการนำเอานวัตกรรมต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรมประมงจึงได้ดำเนินโครงการพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเลคาร์บอนต่ำโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในชื่อ Support to upscaling and adoption of innovations and good practices on energy use efficiency in aquaculture in Thailand ซึ่งมีเป้าหมายในการศึกษาและพัฒนาแนวทางการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

กรมประมงได้เริ่มต้นโครงการพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเลคาร์บอนต่ำในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด โดยแบ่งออกเป็น 8 จังหวัดในพื้นที่ชายฝั่งสำหรับการเลี้ยงกุ้งทะเล ได้แก่ ตราด จันทบุรี สมุทรสาคร ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และสงขลา และ 2 จังหวัดในพื้นที่น้ำจืดสำหรับการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ได้แก่ กาฬสินธุ์และราชบุรี ซึ่งโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนานวัตกรรมการใช้พลังงานที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ

เลี้ยงกุ้งทะเล พัฒนา 5 รูปแบบ

  1. ระบบโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก สำหรับเครื่องเติมอากาศในบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล                    
  2. ระบบโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ สำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล 
  3. ระบบมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง สำหรับเครื่องเติมอากาศในบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล 
  4. ระบบควบคุมเครื่องเติมอากาศอัจฉริยะ ในบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล 
  5. ระบบโซลาร์เซลล์ร่วมกับระบบควบคุมเครื่องเติมอากาศอัจฉริยะ ในบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล 

เลี้ยงกุ้งก้ามกราม พัฒนา 2 รูปแบบ

  1. การใช้โซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก (Stand Alone)
  2. การใช้มิเตอร์ไฟฟ้าแบบ TOU
economic-business-thai-low-carbon-aquaculture-SPACEBAR-Photo01.jpg

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้                         ได้แก่ การเสริมสร้างทักษะและความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดต้นทุนนโยบายสนับสนุนการให้บริการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจากสตาร์ทอัพและนักลงทุน การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับเกษตรกรในการลงทุนในนวัตกรรมพลังงานทดแทน และการพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรในการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โดยผลความสำเร็จจากการใช้นวัตกรรมเหล่านี้ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ถึง 18 - 30% และลดต้นทุนพลังงานลงถึง 22.4 - 39% ซึ่งทำให้ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งทะเลลดลงเป็น 10.1 - 24.3 บาท/กก. นอกจากนี้ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2,291 - 9,433 kCO2e/รอบการเลี้ยง/บ่อ ถือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์