คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับ 34-3 4.5 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่ธุรกิจแข่งขันได้ โดยมองว่าควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป และการสื่อสารฯ เชิงรุกเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถรับรู้และปรับตัวได้ทันการณ์ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการส่งผ่านประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง เช่น ต้นทุนนำเข้าสินค้าพลังงาน และวัตถุดิบโดยเฉพาะในภาคเกษตรฯ ที่ลดลงไปยังภาคการผลิตและภาคประชาชนให้ได้อย่างเป็นระบบ พร้อมเสนอให้ธปท.เร่งพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนอยู่แล้วในตลาดการเงินล่วงหน้า (Forward Market) ปัจจุบันตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงอย่างน้อย 0.25% ภายในปีนี้ และอีกประมาณ 0.25% - 0.5% อีกภายในปีหน้า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อ Real Sector ได้อย่างรวดเร็ว และพิจารณาทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำลังอยู่ในช่วงการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับบริบทศักยภาพและโครงสร้างของเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เพิ่มแรงกดดันต่อภาคการส่งออก เงินบาทแข็งค่าจาก 36.8 มาที่ 32.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หรือราว 12% เป็นการแข็งค่าที่มากกว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาค กลายเป็นปัจจัยลบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี อาจทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกกระทบได้ราว 1.8-2.5 แสนล้านบาท