เร่งขุดลอกลำน้ำสาย ไทย-เมียนมา รื้อกว่า 70 จุดกันน้ำท่วม

6 มี.ค. 2568 - 07:31

  • เมียนมาเดินเครื่องขุดลอกรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างน้ำลำน้ำแม่สาย-แม่น้ำรวก

  • ไทย-เมียนมา เตรียมถกเร่งป้องกันน้ำท่วมซ้ำรอยปี 2567

  • พบสิ่งปลูกสร้างล้ำลำน้ำไทย 45 จุด เมียนมา 33 จุด

economic-business-thai-myanmar-river-flood-SPACEBAR-Hero.jpg

บรรยากาศในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทางการเมียนมาเริ่มดำเนินการก่อสร้างพนังกั้นน้ำและขุดลอกแม่น้ำสาย ตามข้อตกลงร่วมกับประเทศไทย เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2567

หลังจากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ทำให้บ้านเรือนประชาชนที่อาศัยตามริมลำน้ำสายได้รับผลกระทบจากดินโคลนที่ถูกน้ำพลัด จนทับถมบ้านเรือนเป็นวงกว้าง ทำให้หน่วยงานทุกภาครัฐ และเอกชน ต้องเร่งฟื้นฟูตามมาภายหลัง นำไปสู่การหารือระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในลำน้ำแม่สาย จนทำให้ลำน้ำแคบลง

economic-business-thai-myanmar-river-flood-SPACEBAR-Photo01.jpg
economic-business-thai-myanmar-river-flood-SPACEBAR-Photo02.jpg

วรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่สาย เปิดเผยว่า การขุดลอกลำแม่น้ำสายระหว่างไทยกับเมียนมารวมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนระหว่าง 2 ประเทศ ตลอดแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก ได้ประชุม  (JCR) เมื่อวันที่ 16-17 มกราคม ที่จังหวัดเชียงรายที่ผ่านมานั้น ทางการเมียนมาจะรับผิดชอบขุดลอกแม่น้ำสายระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร ตั้งแต่บ้านถ้ำผาจม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปจนถึงเขตติดต่อตำบลเกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย

“ในส่วนของไทย กองทหารช่างจะเป็นผู้ดำเนินการขุดลอกลำน้ำรวก ตั้งแต่เขตพื้นที่ตำบลเกาะช้าง อ.แม่สาย ไปจนถึงสามเหลี่ยมทองคำ เขตพื้นที่ อ.เชียงแสนไปออกแม่น้ำโขง ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร จากการสำรวจตลอดริมน้ำ พบการก่อสร้างรุกล้ำทั้งฝั่งไทยและเมียนมา โดยของเมียนมาพบการรุกล้ำเข้ามาทั้งหมด 33 จุด ส่วนฝั่งไทยรุกล้ำไปจำนวน 45 จุด ซึ่งทางเมียนมาได้แจ้งให้ทางการไทยทราบว่า ได้รื้อถอดไปแล้ว 20 จุด ในส่วนที่เหลือจะเร่งดำเนินการโดยเร็ว”

นายอำเภอแม่สาย ระบุว่า ในส่วนการรื้อถอนฝั่งไทย ยังติดปัญหาหลายด้าน แต่ได้เร่งรื้อถอนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปแล้ว 7 จุด ซึ่งจะรีบเร่งดำเนินการให้ได้เร็วตามข้อตกลง ซึ่งในวันที่ 10 มีนาคมนี้ ประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จะนำคณะเจ้าหน้าที่ไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ข้ามไปยังจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เพื่อลงนามข้อตกลงในการขุดลอกลำน้ำสาย-ลำน้ำรวก ตามข้อตกลง หลังจากลงนามร่วมกัน จะเร่งรีบขุดลำน้ำไปพร้อมกัน

economic-business-thai-myanmar-river-flood-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: วรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่สาย

ขณะเดียวกัน นายอำเภอแม่สาย ยังระบุเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่บ้านเรือนประชาชนตลอดริมฝั่งแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก โดยเฉพาะบ้านเกาะทราย ได้รุกล้ำเข้าเข้าไปในเขตพื้นที่เมียนมา หากรื้อขุดลอกลำน้ำในเขตรับผิดชอบ ทางเมียนมาต้องการให้ทุบหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกให้หมด หากไม่ดำเนินการ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเมียนมา และเจ้าของอาคารสถานที่ส่วนนี้ จะไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐด้วย

จากการพูดคุยกับ ขันแก้ว พญาหลวงขันคำ ชาวบ้านบ้านเกาะทราย ม.7 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย และมีบ้านอยู่ใกล้ลำน้ำสาย กล่าวว่า คนที่มีบ้านเรือนติดลำน้ำแม่สาย ที่ผ่านมาอาศัยต่อๆกันมาหลายรุ่น จนไม่รู้ว่า บริเวณไหนเป็นดินแดนเมียนมา

“หากมีการรื้อคืนพื้นที่ จึงอยากให้หน่วยงานไทยช่วยเข้าไปดูแล และหาสถานที่ให้อยู่อาศัยทดแทน เช่น หาที่ดินให้อยู่ใหม่ เพราะแต่ละคนที่อยู่บริเวณนี้มานานจนแก่เฒ่า ไม่มีปัญญาไปต่อสู้ หรือหาที่ดินปลูกสร้างบ้านใหม่ได้ จึงอยากขอความเห็นใจ”

economic-business-thai-myanmar-river-flood-SPACEBAR-Photo04.jpg

ล่าสุด ทางเมียนมาได้เริ่มดำเนินการนำอุปกรณ์เร่งปรับพื้นที่ตั้งแต่ใต้สะพานไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 และได้ทุบกำแพงที่ได้รุกล้ำลำน้ำ และมีอีกหลายจุดทางฝั่งเมียนมาเริ่มทำการขุด-รื้อกำแพงหินเก่าตามแผน บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสายใน 3 จุด ได้แก่ บริเวณใกล้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1, บริเวณใต้สะพาน และบริเวณหลังโรงแรมอัลลัวร์รีสอร์ท

เตรียมการก่อสร้างกำแพงหินคอนกรีตใหม่ เพื่อป้องกันน้ำท่วมและความเสียหายของตลิ่ง โดยมีความสูงประมาณ 17 ฟุต (2 เมตรกว่า)

การขุดลอกแม่น้ำสายตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำรวก บริเวณบ้านป่าแดง อำเภอเกาะช้าง โดยทางการเมียนมาเป็นผู้รับผิดชอบการขุดลอกทั้งหมด

economic-business-thai-myanmar-river-flood-SPACEBAR-Photo05.jpg
economic-business-thai-myanmar-river-flood-SPACEBAR-Photo06.jpg

การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในแม่น้ำสาย บริเวณจังหวัดท่าขี้เหล็ก ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จำนวน 3 จุด

นอกจากนี้ ยังมีแผนการขุดลอกแม่น้ำสายตามข้อตกลงไทย-เมียนมา เป็นระยะทาง 14.45 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็น 2 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 ระยะทาง 12.39 กิโลเมตร และโซนที่ 2 ระยะทาง 2.06 กิโลเมตร และการสร้างพนังกั้นน้ำระยะทาง 3.960 กิโลเมตร

รวมถึงการขุดลอกแม่น้ำรวก ระยะทาง 30.89 กิโลเมตร ซึ่งมีข้อตกลงว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ด้วยงบประมาณประมาณ 100 ล้านบาท

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์