ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและ ธปท. ได้ยกร่าง “พระราชบัญญัติสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ พ.ศ. ....” เพื่อก่อตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ National Credit Guarantee Agency (NaCGA) ประกอบด้วย 8 หมวด 132 มาตรา ให้เป็นกลไกสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักของเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว และจะเข้า ครม. ในเดือนมีนาคมนี้
NaCGA จะเป็นการกลไกสำคัญยกเครื่องการปล่อยสินเชื่อไทย เพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมกับความเสี่ยงรายบุคคล โดย NaCGA จะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ จะทำหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยงและค้ำประกันเครดิตให้ลูกหนี้ โดย NaCGA จะค้ำประกันครอบคลุมถึง Non-Bank และการออกหุ้นกู้ด้วย
กลไกการทำงานของ NaCGA
- ผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อติดต่อ NaCGA เพื่อให้พิจารณาค้ำประกันเครดิตให้กับตนเอง ก่อนไปยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
- NaCGA จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการ ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) โดยใช้ฐานข้อมูลและแบบจำลองความเสี่ยงด้านเครดิตที่ NaCGA จัดทำขึ้นจากข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทางเลือก
- NaCGA จะออก “ใบค้ำประกันเครดิต” ให้กับผู้ขอสินเชื่อ โดยผู้ขอสินเชื่อจ่ายค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อยตามความเสี่ยง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และสถาบันการเงินที่ร่วมจ่าย
- ผู้ขอสินเชื่อนำใบค้ำประกันเครดิตที่ได้ไปยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
- สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ขอสินเชื่อ เนื่องจากผู้ขอสินเชื่อมี NaCGA เป็นผู้รับประกันความเสี่ยงด้านเครดิตแทนบางส่วนหรือทั้งหมดแล้ว
- หากผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ NaCGA จะเป็นผู้รับความเสี่ยงกับสถาบันการเงินตามเงื่อนไข
ฐานข้อมูลของ NaCGA
พ.ร.บ.ฯ ได้กำหนดให้ ธปท. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม นำส่งข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตนเพื่อจัดทำแบบจำลองเครดิต (Credit Risk Model) ให้ NaCGA
แหล่งทุนของ NaCGA
- เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
- ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันจากผู้ประกอบการ
- เงินสมทบจากธนาคารเป็นรายปี คิดเป็นสัดส่วนตามสินเชื่อธุรกิจ
- เงินสมทบจาก Non-Bank ที่เลือกใช้บริการ NaCGA
การบริหารจัดการ บริหารด้วยระบบคณะกรรมการ 2 คณะ
- คณะกรรมการกำกับนโยบาย มี รมว.คลัง เป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของ NaCGA
- คณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ด้านบัญชี ด้านกฎหมาย ด้านเทคโนโลยี ด้านสถิติ ด้านธุรกิจ SMEs และด้านตลาดทุน มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลการดำเนินงานของ NaCGA
ดร.เผ่าภูมิ ทิ้งท้ายว่า การจัดตั้ง NaCGA จะไม่ได้เป็นเพียงการยกระดับกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของภาครัฐ แต่ยังจะเป็นการสร้างระบบนิเวศใหม่สำหรับการระดมทุนของภาคธุรกิจไทย