ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้บริหารโทรศัพท์มือถือ กรณีการติดตั้งแอปพลิเคชันให้บริการสินเชื่อมากับโทรศัพท์มือถือ ว่า ที่ประชุมให้ผู้ประกอบการ ดำเนินการตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา37 (2)
กรณีที่ต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ต้องดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
ให้ผู้ผลิตโทรศัพท์ทั้ง 2 บริษัท มีมาตรการเร่งด่วน คือ กรณีเครื่องที่จำหน่ายไปแล้วให้มีช่องทางในการดำเนินการลบแอปที่มีปัญหาออก สำหรับเครื่องใหม่ที่ยังไม่จำหน่ายต้องดำเนินการไม่ให้มีแอปที่มีปัญหาอยู่ในเครื่อง ห้ามจำหน่ายเครื่องที่ยังมีแอปฯ สินเชื่ออยู่
ให้ OPPO-Realme ดำเนินการส่งการอัปเดตแบบ Over-the-Air (OTA) ไปยังเครื่องของผู้ใช้บริการเพื่อให้เจ้าของเครื่องดาวน์ โหลดเพื่อถอนโปรแกรมที่มีปัญหาออกเอง และให้ผู้ประกอบการ ดำเนินการตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา37 (2) แจ้งข้อมูลการเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ข้อมูล ให้ สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สลส. ) ทราบภายในวันที่ 16 มกราคม 2568 ทั้งนี้เบื้องต้น ตัวแทนของค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์แจ้งว่าการเก็บข้อมูลดำเนินการโดยเจ้าของแอปเป็นคนดูแล การตรวจสอบข้อมูล และผู้ให้บริการสินเชื่อคือเจ้าของซอฟแวร์
สำหรับผู้ที่ใช้แอปฯ ขอสินเชื่อไปแล้วและเกิดความเสียหายให้แจ้งมายัง สคส.หากตรวจสอบแล้วมีการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมาย ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 3 ล้านบาท
ขณะนี้สิ่งที่ทำได้หรือดำเนินการเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเสียหาย ส่วนการดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ จะมีการตรวจสอบต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากเพจ Isan insight โพสต์เฟซบุ๊กว่า ฮู้บ่ว่า...มีคนในภาคอีสานที่มีอุปกรณ์ Oppo ประมาณ 1.2-1.5 ล้านเครื่อง จากทั้งหมด 5.3-6.2 ล้านเครื่องทั่วประเทศ