พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2568 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมกราคม 2568 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล และภาคตะวันออก อีกทั้งการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้
เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ในเดือนมกราคม 2568
มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และการท่องเที่ยว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 18.8 และ6.5 ต่อปี ตามลำดับ
ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -13.8 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 24.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.5 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -7.5 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 13.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -14.1 ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานศูนย์บริการรับซ่อมและพ่นสีรถยนต์ในจังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 95.6 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนมกราคม 2568
มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน รายได้เกษตรกร และการท่องเที่ยว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 5.8 2.0 และ 3.2 ต่อปี ตามลำดับ
ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -19.0 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 33.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 61.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -27.0 และ -8.9 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 99.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 94.8 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 และ 7.2 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนมกราคม 2568
มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และการท่องเที่ยว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 และ2.2 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -15.7 และ -6.1 ต่อปี ตามลำดับ แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 10.2 และ 4.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 59.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.0 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -24.8 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี
เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 317.9 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานการทำนมสดให้ไร้เชื้อ ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 91.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.3 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 และ 7.3 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนมกราคม 2568
มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 13.4 และ2.7 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -17.6 และ -8.7 ต่อปี ตามลำดับ แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 34.9 และ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 61.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -18.8 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 25.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -17.9 ต่อปี
เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 73.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 73.9 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 และ 5.0 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนมกราคม 2568
มีปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภค รายได้เกษตรกร และการท่องเที่ยว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นโดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 11.9 และ 29.2 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -25.4 และ -1.9 ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 57.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -17.8 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 25.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
อย่างไรก็ตาม จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 83.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 78.7 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 14.8 และ 20.3 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนมกราคม 2568
มีปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และการท่องเที่ยว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ 0.0 -10.8 และ -1.2 ต่อปี ตามลำดับ แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 8.4 2.5 และ 13.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.7 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -18.8 และ -37.6 ต่อปี ตามลำดับ
เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 909.4 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตกระป๋องโลหะในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 95.6 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 และ 5.9 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนมกราคม 2568
มีปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และการท่องเที่ยว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -0.3 -21.3 -2.4 และ -0.6 ต่อปี ตามลำดับ แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 5.8 19.6 9.5 และ 7.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.7 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -26.5 ต่อปี
เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 524.0 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 95.6 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 และ 6.7 ต่อปี ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของไทย ประจำเดือนมกราคม 2568 ซึ่งสำรวจจากสำนักงานคลังจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเกือบทุกภูมิภาคตามความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในภาคเกษตรและบริการเป้นสำคัญ สอดคล้องกับกำลังซื้อสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชนซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาคเช่นกัน อาทิ ภาคตะวันออก และ กทม. และปริมณฑล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคบริการเป็นสำคัญ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคใน 6 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค เช่น ภาคใต้ และภาคเหนือ ซึ่งส่วนหนึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากนโยบายภาครัฐ เช่น Easy E-Receipt 2.0 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความผันผวนของสภาพอากาศ เศรษฐกิจโลก และต้นทุนการผลิตที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น