เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงดีอี สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันออกมาตรการเกี่ยวกับ SMS ที่ผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันและปราบปรามการใช้ข้อความสั้นในการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี โดยได้เริ่มดำเนินมาตรการป้องกันการส่ง SMS แนบลิงก์หลอกลวง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ดังนี้
- ดำเนินการลงทะเบียน Sender Name ใหม่ทั้งระบบในทุก ๆ ปี เพื่อให้สามารถระบุตัวตนของผู้ให้บริการ และผู้ส่ง SMS
- ดำเนินมาตรการความปลอดภัยสำหรับการส่ง SMS แนบลิงก์ โดยผู้ส่งข้อความ (Sender Name) SMS แนบลิงก์ จะต้องลงทะเบียนกับผู้ให้บริการเครือข่ายทุกครั้ง และการลงทะเบียนการส่ง SMS แนบลิงก์ จะต้องระบุรายละเอียดของข้อความ และลิงก์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่ายตรวจสอบลิงก์ก่อนที่จะส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ (End user)
- ในกรณีที่มีการตรวจพบ ข้อความแนบลิงก์หลอกลวง ,ข้อความแนบลิงก์ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน หรือข้อความอื่นที่สามารถใช้เป็นช่องทางในการติดต่อถึงบุคคลอื่น เช่น ไอดี Line ทาง ตร. จะดำเนินการ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 แจ้งผู้ให้บริการเครือข่ายยกเลิกสัญญาบริการกับผู้ส่งข้อความ (Sender Name) และผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลการลงทะเบียนของผู้ส่งข้อความให้กับทาง ตร. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ส่งข้อความต่อไป
“ปัจจุบัน กสทช. ได้กำหนดให้เฉพาะผู้ใช้งาน Sendername ที่มีจำนวน 42 ราย ซึ่งได้รับการลงทะเบียนแล้ว จึงจะสามารถส่งข้อความ SMS แนบลิงก์ได้ และลิงก์ที่แนบมากับข้อความต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) แล้วเท่านั้น”