รอลุ้น 1 พ.ค.นี้ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

26 มี.ค. 2568 - 02:27

  • เล็งประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท บางสาขาอาชีพ

  • ห่วง SMEs หวั่นขึ้นพร้อมทั่วประเทศส่อทำแรงงาน 1.9 ล้านตำแหน่ง

  • ต้องหารือกับผู้ประกอบการ SMEs ทุกจังหวัดก่อน

economic-business-thai-sme-minimum-wage-money-labor-SPACEBAR-Hero.jpg

พิพัฒน์​ รัชกิจประการ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน​ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ​ 400 บาท​ หลังจากที่ถูกฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิง​ ว่า​ กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยทางปลัดกระทรวงกำลังจะเรียกประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในครั้งต่อไป​ ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เพื่อหาแนวทางการพิจารณา ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทในครั้งต่อไป เพื่อให้ทันในวันที่ 1 พฤษภาคมซึ่งตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ  แต่หากประกาศทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ​ก็จะส่งผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย​ หรือ​ SMEs ซึ่งมีกว่า 5 แสนราย ลูกจ้างประมาณ 5,800,000 คน​

ฉะนั้นหากมีการประกาศขึ้นค่าแรงอย่างพร้อมเพียงกัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบจึงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ และหารือกับผู้ประกอบการ SMEs ทุกจังหวัดก่อน​ พร้อมยืนยันว่านโยบายนี้ กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจแต่การจะดำเนินการอะไรก็ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ไม่เช่นนั้นหากเกิดความเสียหาย ก็จะเป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานไม่สามารถรับผิดชอบได้ พร้อมยกตัวอย่างว่าหากมีการ ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเท่าเทียม ก็อาจจะมีบริษัท SMEs หายไปกว่า 30% จาก 5.8 ล้านบริษัท จะหายไปประมาณ 1.9 ล้านบริษัท​ เมื่อเป็นเช่นนั้นกระทรวงแรงงานไม่สามารถนำแรงงานเข้าไปบรรจุได้

รมว.แรงงาน ยืนยันว่า การดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี กระทรวงแรงงานก็พยายามผลักดันแรงงานให้ GDP โตตามเป้า 3%

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้การขึ้นค่าแรงสัมพันธ์กับการเติบโตของ GDP 3% รมว.แรงงาน กล่าวว่า เราก็ตั้งเป้าจะทำให้ถึง GDP 3% แต่ถ้าวิเคราะห์แล้วไม่ถึงเราก็จะเลือกในบางสาขา ซึ่งตนได้ให้นโยบายปลัดกระทรวงไปแล้วว่า ในวันแรงงานจะต้องมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในบางสาขา โดยที่ผู้ประกอบการไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นการหาข้อมูลต่าง ๆ เราจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์