จากกรณี Moody’s รายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยได้คงอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) ที่ระดับ Baa1 และปรับมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ที่ Negative Outlook
พชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่าการปรับมุมมองดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยความเสี่ยงภายนอก (External Risks) โดยเฉพาะความไม่แน่นอน (Uncertainty) ที่เกิดขึ้นจากนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลก (Global) และภูมิภาค (Regional) รวมถึงส่งผลกระทบทางอ้อมมายังเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลไทย
“แม้จะยังไม่สามารถประเมินระยะเวลาและความรุนแรงได้อย่างชัดเจน แต่ความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่มีการปรับลดอัตราการเจริญเติบโตในปี 2568 จาก 3.3% เป็น 2.8% ทำให้ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับ Negative Outlook จากปัจจัยดังกล่าว แต่ยังมีประเทศอื่นที่ถูกปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศ (Outlook) เช่นกัน สำหรับประเทศอื่นที่ถูกปรับลดมุมมองไปก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2566 – 2567 เป็นผลจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งด้านการค้า สะท้อนถึงแนวโน้มความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก”
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ขอให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง ดังนี้
• แนวทางการรองรับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ : ประเทศไทยกำลังดำเนินการเจรจาเพื่อรองรับต่อมาตรการดังกล่าวที่อาจส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เช่น การลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และการรองรับผลกระทบจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐอเมริกาในการหาตลาดทดแทนซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยจะดำเนินการกำหนดมาตรฐานของสินค้าและควบคุมการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า ตลอดจนเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
• ภาคการคลัง : เศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้แผนการเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) มีความล่าช้า อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้วางแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ของภาครัฐ ลดภาระทางการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว รวมถึงเพิ่มพื้นที่ทางการคลังในการรองรับเหตุการณ์ผันผวนในอนาคตได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังคงมีสถาบันเศรษฐกิจและธรรมาภิบาลที่มีความแข็งแกร่งในระดับปานกลางถึงสูง มีความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างรอบคอบ มีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีวินัย ซึ่งสะท้อนจากหนี้สาธารณะเกือบทั้งหมดเป็นสกุลเงินบาท ทำให้ไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และการที่มีตลาดทุนภายในประเทศที่สามารถรองรับความต้องการกู้เงินได้อย่างเพียงพอ
• ภาคการลงทุน : ประเทศไทยยังคงสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2567 มีมูลค่ากว่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงานที่ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)
• ภาคการท่องเที่ยว : จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 เหตุการณ์แผ่นดินไหวส่งผลกระทบระยะสั้นต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
สบน. ในนามกระทรวงการคลังขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบ มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีแผนการปฏิรูปโครงสร้างรายได้ภาครัฐ และแผนเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ระยะปานกลาง กำลังถูกเร่งดำเนินการ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานความแข็งแกร่งทั้งจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง ภาคการส่งออกที่หลากหลาย และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การปรับมุมมอง Outlook ในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคหรือเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีศักยภาพในการรองรับความผันผวนจากปัจจัยภายนอก ด้วยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีความยืดหยุ่น และความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางถึงระยะยาว ทั้งนี้ สบน. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและฐานะทางเครดิตของประเทศให้มีความมั่นคงในระยะยาวต่อไป