เปิดปัญหาท่องเที่ยวจังหวัดตรัง พบว่า พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้ชายหาดสวย ๆ ของจังหวัดตรัง ไม่มีโรงแรมหรือรีสอร์ตริมทะเลให้บริการ ทำให้หลายฝ่ายจัดระดมความเห็นผลักดันให้มีการแก้ระเบียบใหม่ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปเช่าใช้พื้นที่ได้
ขณะที่ข้อมูลล่าสุด พบว่า อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง แม้กรมอุทยานยังไม่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการ E-Ticket แต่ตลอดทั้งปี 2567 การจัดเก็บรายได้ มีรายได้ 10.6 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 4.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 80% สะท้อนถึงความนิยมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพื้นที่
ขณะที่วิทยาลัยการโรงแรมและท่องเที่ยว(มทร.ตรัง) จัดทำโครงการ 360 องศาท้าทายทุกการค้นพบ เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อระดมความคิดของผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกภาคส่วน ปัญหาของการท่องเที่ยวและแนวทางที่จะแก้ปัญหา


โดยแยกเป็น 4 Forum คือ 1. การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ 2. ตลาดการท่องเที่ยวสุดปัง เขา ป่า นา เล เมือง 3. คือจัดอีเวนท์ให้ว้าวโดนใจ และ 4.ปลดล็อคการท่องเที่ยวพื้นที่จังหวัดตรัง
การประชุมครั้งนี้เชิญผู้ประกอบการท่องเที่ยว 6 สมาคม สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวตรังเติบโตกว่าที่เป็นอยู่ และอีก 2-3 ปีข้างหน้า ที่ท่าอากาศยานตรัง มีการขยายปรับปรุงเต็มรูปแบบของสนามบินนานาชาติแล้ว
จากการทำวิจัยของ มทร.ตรัง พบปัญหาว่า การท่องเที่ยวตรังที่ไม่เติบโต เพราะประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น การขนส่งสาธารณะเข้าไม่ถึงสถานที่ท่องเที่ยว ไม่มีการทำตลาดที่เชื่อมโยงกัน ทำให้ไม่มีพลังที่จะขับเคลื่อนการตลาดได้กว้างและดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา การทำกิจกรรมเพื่อจัดงานหรือส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาภาคเอกชนและภาครัฐต่างคนต่างทำ ทำให้ไม่เกิดความสามัคคี และไม่สามารถนำไปสู่การจัดงานหรืออีเวนท์ใหญ่ระดับชาติหรือระดับโลกได้
ขณะเดียวกัน สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ติดชายทะเล ระยะยะทาง 119 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมทั้งหมด ซึ่งมีเนื้อที่ 144,292 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.สิเกา และ อ.กันตัง จ.ตรัง ทำให้ไม่มีพื้นที่ของเอกชนที่มีเอกสารสิทธิ์เข้าไปประกอบธุรกิจได้ เช่น โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร หรือพื้นที่บริการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนมากต้องกลับเข้าไปพักในตัวเมือง

ดังนั้นผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดตรัง จึงนำเสนอว่า หากภาครัฐไม่ให้เข้าใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติได้ อนาคตการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง จะไม่มีความเจริญและก้าวหน้า ทันกับการขยายท่าอากาศยานนานาชาติตรังไว้รองรับ ซึ่งในที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุดโดยจะเสนอชื่อคณะกรรมการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังรับไปพิจารณา เพื่อเป็นผู้นำขับเคลื่อนแก้ปัญหานี้

ผศ.ฟ้าพิไล ทวีสินโสภา ผู้อำนวยการ วิทยาลัยการโรงแรมและท่องเที่ยว(มทร.ตรัง) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาในจังหวัดมีการจัดงานก็จริง แต่เป็นลักษณะคนตรังจัดงานและคนตรังเที่ยวกันเอง จึงไม่เกิดประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งกิจกรรมที่จัดมีรูปแบบซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่มีอะไรใหม่ไม่สามารถดึงดูดความสนใจให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่นได้

“สิ่งหนึ่งที่คณะผู้จัดทำต้องการ คือการประชาสัมพันธ์ดึงคนรุ่นใหม่ เช่น กลุ่มเจนเนอชั่น Z ที่จะมาท่องเที่ยวแล้วจะช่วยโปรโมททางอ้อมด้วยการใช้สื่อออนไลน์ และจังหวัดตรังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวซ้ำได้ ดังนั้นทั้ง 4 Forum จะต้องถูกแก้ปัญหานำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวจังหวัดตรังมากขึ้น นำไปสู่การยกระดับการท่องเที่ยวตรังไปสู่อินเตอร์ เพราะในอีก 1- 2 ปีข้างหน้า สนามบินนานาชาติตรัง จะพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว”
จงกลณี อุสาหะ นายกสมาคมการท่องเที่ยวและโรงแรมจังหวัดตรัง กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องการจะแบ่งโซนขอใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม คือ โซนที่ 1.แยกเป็นโซนสันทนาการสำหรับจัดกิจกรรมท่องเที่ยว เช่น การจัดงานอีเวนท์ การจัดคอนเสิร์ต และการจัดแข่งขันกีฬา โซน 2. คือพื้นที่ภาคบริการ โดยให้มีการก่อสร้างโรงแรมรีสอร์ท แต่ต้องเป็นระดับห้าดาว ร้านค้าจะมาสินค้าโดยให้มีขอเช่าพื้นที่กับอุทยาน 30 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องให้ผู้เช่าออกแบบเขียนแปลน นำเสนอกับกรมอุทยานฯ อีกทั้งระบบการรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เช่าให้มีมาตรฐานรักษาสิ่งแวดล้อมอย่าดีที่สุด การเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการนั้น เราต้องการใช้เป็นโมเดล นำสู่การพัฒนาพื้นที่บริการท่องเที่ยวที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอื่นๆ อีกด้วย”

ขณะที่ ทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า แม้จะมีข้อจำกัดของพื้นที่ ที่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานฯ ทำให้ชายหาดสวยๆของจังหวัดตรัง ไม่มีโรงแรมหรือรีสอร์ตริมทะเล แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง จะเห็นได้ว่าจังหวัดตรังสามารถรักษาพื้นที่ท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวได้ และอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมได้เปิดการท่องเที่ยวทางทะเลแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังปิดนาน 4 เดือนเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ
