คดี ‘ทรู - พิรงรอง’ ผู้บริโภคหรือผลประโยชน์

5 ก.พ. 2568 - 03:53

  • ออกหนังสือเตือน มีโฆษณาแทรกในสัญญาณที่นำไปออก ผิดกฎ ’Must Carry’

  • ฟ้องร้องหนังสือที่ออกไป ออกโดยสำนักงาน กสทช. มิใช่คำสั่งทางปกครอง

  • คดีนี้มีผลต่อการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภค

economic-business-true-must-carry-SPACEBAR-Hero.jpg

กระแสนักวิชาการสื่อสารมวลชน และคนทำสื่อ ออกมาจับตาผลคดี ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดพิพากษาคดี กสทช. ดร.พิรงรอง รามสูต วันที่ 6 ก.พ.นี้ จากการทำหน้าที่ออกหนังสือเตือนทีวีดิจิทัล แจ้งว่า ‘ทรูไอดี’ มีโฆษณาแทรกในสัญญาณที่นำไปออก ผิดกฎ ’Must Carry’ ที่มีห้ามมีโฆษณาแทรก บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้อง แม้หนังสือไม่ได้ส่งตรงไปยังบริษัททรูดิจิทัลฯ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต และไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่บริษัท ทรูดิจิทัลฯ อ้างว่า การออกหนังสือดังกล่าวทำให้ตนเองเสียหาย จึงนำมาซึ่งการฟ้องร้อง

หนังสือที่ออกไป ออกโดยสำนักงาน กสทช. มิใช่คำสั่งทางปกครอง จึงไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตได้รับหนังสือข้างต้นและจะปฏิบัติตามประกาศ กสทช. ในประเด็น ‘มัสแครี่’ อย่างเคร่งครัดหรือไม่ ก็ยังไม่มีบทลงโทษตามกฎหมาย และผู้ได้รับใบอนุญาตมีสิทธิที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อรายการที่อยู่ภายใต้การประกอบการ

คดีนี้มีความผิดปกติตั้งแต่แรก เนื่องจากการทำหน้าที่ กสทช. ถ้าจะถูกตรวจสอบ ควรฟ้องศาลปกครอง เพราะเป็นการทำหน้าที่ในฐานะองค์กรกำกับดูแล แต่กลับถูกฟ้องคดีอาญา

คดีนี้จะเป็นคดีตัวอย่างในการทำหน้าที่  ‘กสทช.’ ที่จะคุ้มครองผู้บริโภคแต่ถูกฟ้องร้อง สืบเนื่องจากที่มีผู้บริโภคร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. ในปี 2566 หลังจากพบว่าบนแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชันทรูไอดี มีการโฆษณาแทรกในช่องทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งบริษัททรูดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการแอปฯ ทรูไอดี ได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง

ผลของคดีกระทบต่อ กสทช. ทันที ถ้า ถ้าศาลไม่ให้ประกันตัวแม้เพียงวันเดียว ‘พิรงรอง’ หลุด กสทช.ทันที เผยก่อนหน้า ‘ทรูดิจิทัลฯ’ เคยร้องขอให้ศาลสั่งให้ ‘พิรงรอง’ ยุติการปฏิบัติหน้าที่มาแล้ว ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนคุณสมบัติของ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 7 (6) และ (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช.ว่า เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือ เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ดร.พิรงรอง ยืนยันว่า การออกหนังสือของสำนักงาน กสทช. เป็นการทำตามหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากการ ‘แทรกโฆษณา’ ในบนแพลตฟอร์มทรูไอดีในการรับชมเนื้อหาตามประกาศมัสต์ แครี่ และดูแลลิขสิทธิ์เนื้อหาของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งการตรวจสอบของ กสทช. จนนำไปสู่การออกหนังสือดังกล่าว มาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนกล่องทรูไอดี ทั้งนี้ ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบกิจการรายหนึ่งรายใดเป็นพิเศษ

เดือน เมษายน 2567 บริษัท ทรู ดิจิทัลฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ ‘กสทช.พิรงรอง’ ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และ ประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้  แต่ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2567 ศาลยกคำร้องดังกล่าว โดยพิจารณาว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า เป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง

ทุกฝ่ายจึงเฝ้ารอและติดตามผลคดีนี้อย่างใจจดจ่อเพราะผลคดีย่อมสะท้อนถึงหลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะ บทบาทการทำหน้าที่ของกสทช.ในอนาคต  ถ้าการกระทำหน้าที่ทางปกครองกลายเป็นความผิดคดีอาญา คดีนี้จึงมีผลต่อการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภคอย่างแน่นอน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์