ทุนจีนรุกคืบอีสาน…? แนะรีบป้องกัน-ดันสินค้า Made in Thailand

10 ส.ค. 2567 - 06:00

  • จับตา “ทุนจีน”รุกหนัก สร้างนอมินีถือหุ้นลงทุนและเดินเกมทุ่มตลาด หากไทยยังไม่ตื่นตัวจะไม่ทันการณ์

  • นักวิชาการแนะเร่งพัฒนาทักษะแรงงานสู้ ผลิตสินค้าที่จีนยังไม่มีและทำไม่ได้

  • กระตุ้นในประเทศใช้สินค้าและผลิตสินค้าตีตรา Made in Thailand สู้สินค้าจีน

economic-chinese-northeast-thailand-products-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจากที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ถือเป็นสงครามการค้าของทั้ง 2 ประเทศรอบใหม่  ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนที่ประเทศไทยต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยทั้งรายใหญ่ รายย่อย หรือ SME กังวลว่าในอนาคตการค้าการลงทุนจะได้รับผลกระทบ เพราะการเข้ามาของทุนจีนทำให้สินค้าจีนล้นทะลัก ประกอบกับประเทศไทยยังไม่มีมาตรและการจัดการที่ดี  รวมถึงยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแลผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบการไทย

ทีมข่าว Spacebar Big City พูดคุยกับ “ทวีสันต์ วิชัยวงษ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ถึงมุมมองและแนวทางที่ภาคธุรกิจกำลังจับตาอยู่

ทุนจีนเข้ามาประเทศไทยนานแล้ว ที่คนไทยรู้จักและเรียกว่าทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนจีนมองเห็นโอกาสทำเงิน นำเข้าสินค้าจีนและบริการขายให้นักท่องเที่ยวประเทศตัวเอง มีทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค จนสินค้าบางประเภท กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว ทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ รวมถึงสินค้าอีกหลากหลายรายการที่ดาหน้าเข้ามาแข่งขันกับสินค้าไทย และตีตรา “Made in China” ทำให้สินค้าไทยสู้ลำบาก”

ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ยังบอกด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดมากขึ้น เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน ทำให้จีนย้ายฐานการส่งออกและการผลิตมายังประเทศไทย ส่งผลให้สินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันในตลาดไทยมากขึ้น  

นอกจากนี้ไทยถือเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังประเทศต่างได้สะดวก และไทยกลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้น ๆ จึงทำให้นักลงทุนจีนย้ายมาลงทุนกันเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเงินทุนของผู้ประกอบการ ที่ไทยสู้ทุนจีนไม่ได้

economic-chinese-northeast-thailand-products-SPACEBAR-Photo01.jpg

“ปัจจุบันภาคอีสานพบเห็นการเข้ามาของทุนจีนไม่มากนัก เพราะเป้าหมายของนักลงทุนจีนยังคงอยู่ที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และจังหวัดท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นจำนวนมาก ส่วนในอนาคตต้องจับตาช่วงที่มีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน คาดว่าจะมีนักลงทุนจีนเบนเข็มมาลงทุนในจังหวัดในแถบอีสานตามเส้นทางรถไฟผ่านอย่าง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคายมากขึ้น ประเด็นที่น่ากังวลและต้องติดตามคือ การจดทะเบียนการค้าทำกิจการในประเทศไทยตรวจสอบได้ยาก รัฐบาลต้องมีความจริงจังเรื่องการตรวจสอบว่าการจดทะเบียนการค้า โดยต่างชาติถือหุ้นได้ร้อยละ 49 คนไทยร้อยละ 51 นั้นเป็นนอมินีหรือไม่ หรือคนไทยถือหุ้นร้อยละ 51 จริง แต่แบ่งการถือหุ้นออกเป็นหลายหุ้น ขณะที่คนจีนถือหุ้นร้อยละ 49 เป็นหุ้นใหญ่ของบริษัท มีอำนาจในการกำกับและขับเคลื่อน นโยบายของบริษัท ซึ่งประเด็นนี้เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ทางสภาพอุตสาหกรรมได้ยืนข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ดูแลในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาสิทธิให้กับผู้ประกอบการไทย”

“ทวีสันต์” บอกเพิ่มเติมด้วยว่า การเข้ามาของทุนจีน ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.สินค้าที่ทดแทนสินค้าไทยที่จะทำให้คนไทยเสียประโยชน์ 2.สินค้าจีนที่มีคุณภาพ ราคาย่อมเยาที่คนไทยได้ประโยชน์ ซึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาดูว่าสินค้าจีนประเภทใดที่เข้ามาทดแทนสินค้าไทย พร้อมกับหามาตรการควบคุมและป้องกันการนำเข้าสินค้าจีนที่จะมาทดแทนสินค้าไทย ส่วนสินค้าจีนบางประเภท เช่น สมาร์ทโฟน มีราคาถูก คุณภาพดี ถือว่าคนไทยได้ประโยชน์ได้ใช้ของดีในราคาไม่แพง

“ประเด็นคือสินค้าที่เข้ามาเป็นสินค้าทดแทนสินค้าไทย ที่น่าห่วงคือประเทศไทยยังไม่มีแผนรองรับปัญหาสินค้าตีตลาดไทย จะเรียกว่ายังไม่มีและยังไม่ดี ทำให้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมได้ทำหนังสือยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลใน 3 ประเด็น หนึ่งในนั้นคือเสนอให้ภาครัฐออกมาตรการป้องกันสินค้าต่างชาติที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือ Made in Thailand หรือ MiT”

นอกจากนี้ยังพบว่าบางมาตรการของรัฐเปิดช่องการลงทุนให้กับนักธุรกิจชาวจีน เช่น นโยบายฟรีวีซ่า นโยบายภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์ รถไฟฟ้า แบตเตอรี่รถไฟฟ้า ส่วนสินค้าอื่นที่ยังเสียภาษีต่ำกว่าสินค้าที่ไปยุโรป อเมริกา ทำให้นักลงทุนชาวจีนเบนเข็มมาค้าขายที่เมืองไทย เพราะขายได้กำไรมากกว่า

หลังจากนี้รัฐบาลและผู้ประกอบการไทยต้องตั้งหลักว่า จะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างไร เราไม่ไปแข่งขันสินค้ากับจีนเพราะต้องยอมรับว่าเราสู้เขาไม่ได้  แต่เราควรจะพัฒนาสินค้าที่ประเทศเรามี แต่จีนไม่มี จึงต้องตั้งธงเรื่องแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะประเด็นซอฟท์เพาเวอร์ มีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมขายกับนักท่องเที่ยวทั่วโลก

“ไทยต้องเร่งพัฒนาทักษะแรงงานให้มีคุณภาพ หากเราเป็นศูนย์กลางการผลิตให้ทั่วโลกมาตั้งฐานการผลิตที่เมืองไทย ควรจะปักธงว่าประเทศไทย เป็นศูนย์กลางแรงงานที่มีทักษะสูง ทำให้คนไทยรับค่าแรงมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของอุตสาหกรรมว่า ไม่ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่หันมาสร้างคนให้มีทักษะเพิ่ม และจ่ายค่าแรงตามความสามารถ จะทำให้ค่าจ้างงานสูงกว่าการปรับขึ้นค่าแรง”

การเข้ามาลงทุนในไทยของ 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และจีนนั้น ผศ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวางแผน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่า ส่วนใหญ่การเข้ามาลงทุนของทั้ง 2 ประเทศจะอยู่ในพื้นที่การท่องเที่ยว พื้นที่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะจีน เลือกลงทุนในพื้นที่ท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ในรูปแบบของร้านอาหาร ทัวร์และที่พัก เป็นต้น ขณะที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนในด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก 

“ภาคอีสานจะต่างออกไป ตลาดการท่องเที่ยวที่ยังไม่โดดเด่น พื้นที่การลงทุนที่เข้ามาเป็นปกติมีแต่เดิมอยู่แล้ว เพิ่มเติมจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้าการลงทุน คือ จังหวัดขนาดใหญ่ จังหวัดติดชายแดน และจังหวัดที่มีรถไฟเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่น ๆ

economic-chinese-northeast-thailand-products-SPACEBAR-Photo02.jpg

การเข้ามาลงทุนในภาคอีสานจึงมาในรูปแบบภาคการผลิต เช่น โรงงานน้ำตาล การขนส่ง บรรจุภัณฑ์ ที่มีความเชื่อมโยงการโครงสร้างของเศรษฐกิจอีสาน การลงทุนของอเมริกาและจีนจะลงทุนต่างกัน อเมริกาเน้นการลงทุนด้านเทคโนโลยี แต่มูลค่าการลงทุน ก็ยังไม่มากเมื่อเทียบกับภูมิภาคหรือประเทศอื่น

ผศ.ประเสริฐ ยังบอกอีกว่า กระแสการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาตินั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบ บางส่วนอาจยุติปิดกิจการ ผู้ประกอบการไทยหายไป ถือเป็นปรากฎการณ์กลไกด้านการแข่งขัน แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการไทยต้องมีการปรับตัวทั้งด้านสินค้า บริการ และต้องหาวิธีเพิ่มมูลค่าสินค้า ไม่เน้นการแข่งเรื่องราคา พัฒนาสินค้าให้มีความเฉพาะ มีความพิเศษ การรักษามาตรฐานสินค้า การบริการหลังการขาย เป็นต้น เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในสินค้าเกิดการใช้ต่อ ใช้ซ้ำ และรักษาคุณภาพสินค้า ส่วนในระยะยาวผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนทั้งการคิดค้นวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีความชัดเจนเชิงยุทธศาสตร์แต่ละจังหวัด

“นอกจากผู้ประกอบการไทยแล้ว หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรมีมาตรการรองรับช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยในระยะสั้นควรเข้ามาดูแลความเหมาะสมของการเข้ามาลงทุนว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ออกแบบการลงทุนในระหว่างที่มีการเตรียมตัว ในระยะยาวหากปล่อยให้ผู้ประกอบการไทยจัดการกันเอง จะทำให้โดดเดี่ยว สู้ไม่ไหว และล้มหายออกจากระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม ควรผลักดันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในธุรกิจ”

แม้ว่าการลงทุนในประเทศไทยทั้งค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าประเทศอื่น แต่นักลงทุนยังคงสนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากศักยภาพด้านแรงงานไทยที่มีคุณภาพ และในภูมิภาคนี้ไทยคือคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของจีน จึงทำให้นักลงทุนจีนเข้ามาเปิดตลาดที่ใหญ่กว่า และเชื่อว่าคุ้มกับการลงทุน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์