ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการออกมาตรการ ‘แก้หนี้เรื้อรัง’ เพื่อช่วยเหลือบรรดาลูกหนี้ที่มีปัญหาเป็นหนี้เรื้อรังผ่านการให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ยเพื่อลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้เร็วขึ้น
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ เปิดเผยว่าจากการสำรวจติดตามผลของการแก้หนี้เรื้อรังของธปท. ที่มีผลบังคับใช้แล้วนับแต่แต่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นมา จากสถาบันการเงินทั้ง 37ราย ทั้งธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ นอนแบงก์ พบว่ามีลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt : PD) ทั้งกลุ่มที่มีปัญหาและที่เป็นหนี้เรื้อรังแล้วราว 1.8 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท
ในจำนวน 1.8 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ที่กำลังมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (General PD) กลุ่มนี้มีจำนวน 1.33 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ถึง 60,882 ล้านบาท และกลุ่มที่มีสภาพเป็นลูกหนี้เรื้อรังแล้ว (Severe PD) แล้ว ที่ 4.8 แสนบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ 14,433 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีลูกหนี้ที่สมัครเข้าโครงการ ‘แก้หนี้เรื้อรัง’ ไม่มากนัก เพราะสถาบันการเงินหลายแห่งยังให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนกับลูกหนี้ในการเชิญชวนเข้ามาตรการ โดยไม่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่ 15% ต่อปี เมื่อลูกหนี้เข้าโครงการแล้ว ทั้ง ๆ ที่โครงการนี้เปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถ ‘ปิดจบหนี้’ ได้เร็วขึ้น และลดภาระดอกเบี้ยให้ลดลง โดยเฉพาะยอดผ่อนชำระต่อเดือน
ตัวอย่างของการเข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรัง หากเป็นบัตรกดเงินสด โดยมีวงเงินต้นอยู่ที่ 15,000 บาท หากผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 3% มาแล้ว 5 ปี จะต้องจ่ายเงินต้นอีก 8,700 บาท ซึ่งหากลูกหนี้เลือกที่จะชำระขั้นต่ำต่อไปจนครบ บนดอกเบี้ยที่ 25% ลูกหนี้จะใช้เวลาผ่อนอีก 13 ปี 5 เดือน โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยอีก 14,000 บาท ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมทั้งสัญญาอยู่ที่ 29,000 บาท
แต่หากเข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรัง หากลูกหนี้จ่ายมาแล้ว 5 ปี เหลือเงินต้นอีก 8,700 บาท ลูกหนี้จะผ่อนต่อไปอีกเพียง 3 ปี 6 เดือน บนดอกเบี้ยที่ 15% ต่อปี หรือวงเงินผ่อนที่ 260 บาทต่องวด ทำให้เหลือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพียง 2,500 บาท ดังนั้นเมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วลูกหนี้จะจ่ายดอกเบี้ยทั้งสัญญาเพียง 17,500 บาท ดอกเบี้ยลดลง 11,500 บาทหากเทียบกับการผ่อนขั้นต่ำจนครบสัญญา
จากการสำรวจยังพบว่า กลุ่มลูกหนี้เรื้อรังส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย โดยหากดูคำนิยามของลูกหนี้ที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ กลุ่มแรกลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (General PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี
ส่วนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 5 ปี ทั้งนี้ ธปท.กำหนดรายได้ลูกหนี้สำหรับธนาคารพาณิชย์ จะมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท และนอนแบงก์น้อยกว่า 10,000 บาท โดยลูกหนี้จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี และลดภาระดอกเบี้ยเหลือ 15%
ขณะเดียวกัน เครดิตบูโร หรือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จะมีการส่งข้อมูลบัญชีที่เป็นหนี้เรื้อรังและเข้าโครงการปิดจบของธปท. นั้นมีจำนวนเท่าใด ในเดือนเมษายนนี้