กสทช. ยัดไส้ ‘เทเลเฮลท์’ ใช้งบ 4,000 ล้าน

9 เมษายน 2567 - 09:40

economic-digital-telehealth-uso3-nbtc-SPACEBAR-Hero.jpg
  • บอร์ด กสทช.นัดพิเศษ ผ่านแผน USO ฉบับ 3

  • โครงการเทเลเฮลท์ เปลี่ยนปก จ่อขอรับเงินอุดหนุนวงเงินเฉียด 4 พันล้านบาท

  • จับตาซ้ำซ้อนกับโครงการคลาวด์กลางสุขภาพที่ของกระทรวงดิจิทัลฯ

การประชุมบอร์ด กสทช. วันนี้ (9 เมษายน 2567) เป็นที่จับตามองกันมากโดยเฉพาะ ‘วาระพิจารณา’ สำคัญคือ การเคาะแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565) หรือแผน USO ที่มีโครงการเทเลเฮลท์ จ่อขอรับเงินอุดหนุนวงเงินเฉียด 4 พันล้านบาท และถูก ‘ตี ตก’ ต่อเนื่องมาข้ามปีตั้งแต่ปี 2566 เพราะสุ่มเสี่ยงซ้ำซ้อนกับโครงการคลาวด์กลางสุขภาพที่มติ ครม.เคยไฟเขียวให้กระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการด้วยงบผกว่า 1,500 ล้านบาท และล่าสุด kick off ไปแล้วในเดือน มี.ค. 2567

อย่างไรก็ตาม บอร์ด กสทช. วันนี้ก็สร้าง ‘Big Surprise’ ด้วยการ ‘ผ่าน’ แผน USO ฉบับ 3 ที่ยังบรรจุโครงการ ‘เนื้อหา’ คล้ายเทเลเฮลท์เดิม ภายใต้ชื่อใหม่ ‘โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม ในพื้นที่ขาดแคลนหรือยังขาดบริการที่ทั่วถึง (เพื่อสาธารณสุข)’มุ่งเน้น รพ.สต. และเพิ่มตัวเลขงบจากกว่า 3,850 ล้านบาทเป็น 3,991 ล้านบาท

พลเอกสิทธิชัย มากกุญชร โฆษกประจำประธานกสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้ (9 เมษายน 2567) ได้พิจารณาเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ  โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และเพื่อสังคมในพื้นที่ขาดแคลน หรือยังขาดแคลนบริการที่ทั่วถึง ของแผนปฎิบัติการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ประจำปี 2565 ฉบับที่ 3 ภายใต้แผนการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2565)  

เนื่องจากการจัดเก็บได้เงิน USO น้อยลงไม่เป็นไปตามเป้า จึงปรับลดประมาณ จากประมาณ 6,600 ล้านบาท เหลือ 5862.15 ล้านบาท โดยบอร์ด ให้สำนักงานฯ ทำการเปรียบเทียบราคาเช่าและซื้ออินเทอร์เน็ตก่อนว่าแบบใดจะถูกกว่าเมื่อเลือกได้แบบที่เหมาะสมแล้ว หากได้วิธีที่ถูกกว่าจะสามารถนำงบประมาณมาปรับเฉลี่ยเพิ่มจุดที่จะให้บริการ  

การพิจารณา (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมฉับที่ 4 (พ.ศ.2566-2568 ) ที่แก้ไขเพิ่มเติม เห็นชอบในหลักการและให้ทำประชาพิจารณ์ก่อน ทั้งนี้ที่ประชุมยังไม่เห็นชอบกรอบวงเงินที่จะใช้เนื่องจากต้องการให้ไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาก่อน ( กรอบวงเงินที่กำหนดไว้ในแผน 3 ปี คือ 24,000 ล้านบาท ปีละ 8,000 ล้านบาท 

สำหรับ การพิจารณา เรื่อง ระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Boardcast) กรรมการรับทราบในหลักการ โดยให้มีระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน ทั้งนี้การดำเนินการใช้กรอบวงเงินที่ 1,031 ล้านบาท  (โดยจะหักจากเงินที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ AIS TRUE NT ต้องส่งเข้ากองทุน USO กรอบระยะเวลา 3 ปี ) สำหรับการทำระบบภาครัฐ อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานใด ระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย หรือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ทั้งนี้กระทรวงดีอีได้ตั้งกรอบบประมาณในการดำเนินการในส่วนนี้ไว้ที่ 434,679,068.80 บาท  โดยหลังจากนี้กระทรวงดีอีจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ได้ข้อสรุป

ลับ-ลวง-พราง แผน USO ฉบับ 3 กับโครงการโทรคมฯ เพื่อสาธารณสุข

สำหรับรายละเอียดภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565) ภายใต้กรอบงบประมาณ 5,862.15 ล้านบาท จะประกอบไปด้วย 

ยุทธศาสตร์ 1 : กลยุทธ์ที่ 1 ระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุข ให้มุ่งเน้นโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหลัก เพื่อให้ รพ.สต. สามารถข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้ ภายใต้กรอบงบประมาณ 3,991.12 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 แบ่งเป็น กลยุทธ์ที่ 1 ระบบโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะภายใต้กรอบงบประมาณ 1,371.85 ล้านบาท ให้มุ่งเน้นไปที่ระบบโรงเรียนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนภายใต้กองทุนเพื่อการศึกษา รวมทั้งโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการใด หรือโรงเรียนในพื้นที่ตกหล่น

กลยุทธ์ที่ 2 ระบบโทรคมนาคมเพื่อความมั่นคง ภายใต้กรอบงบประมาณ 499.18 ล้านบาท ในกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำหนดหมู่บ้านในพื้นที่เป้าหมายและความต้องการ ในกรณีด่านตรวจคนเข้าเมือง ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กำหนดพื้นที่เป้าหมายและความต้องการ โดยสำนักงาน กสทช. ได้จัดทำโครงการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และเพื่อสังคมในพื้นที่ขาดแดลน หรือยังขาดบริการที่ทั่วถึง (USO 2565) 

โดยจำแนกกลุ่มเป้าหมายและ สถานที่ติดตั้งออกเป็น 3 โครงการ ดังนี้ 

  1. โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม ในพื้นที่ขาดแคลนหรือยังขาดบริการที่ทั่วถึง (เพื่อสาธารณสุข) 
  2. โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม ในพื้นที่ขาดแคลนหรือยังขาดบริการที่ทั่วถึง (เพื่อประโยชน์สาธารณะ) 
  3. โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและ เพื่อสังคม ในพื้นที่ขาดแคลนหรือยังขาดบริการที่ทั่วถึง (เพื่อความมั่นคง)

รายงานข่าว กล่าวว่า มีข้อน่าสังเกตสำคัญสำหรับรายละเอียดโครงการตามยุทธศาสตร์ที่ระบุไว้ในแผน USO ฉบับที่ 3 ซึ่งผ่านการพิจารณาของบอร์ดฯ ในวันนี้ คือ ยุทธศาสตร์ 1 : กลยุทธ์ที่ 1 ระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุข ให้มุ่งเน้นโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหลัก เพื่อให้ รพ.สต. สามารถข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้ ภายใต้กรอบงบประมาณ 3,991.12 ล้านบาท ซึ่งอาจมีความใกล้เคียงกับโครงการเทเลเฮลธ์ กรอบงบประมาณ 3,850 ล้านบาท ซึ่งเคยถูกมติเสียงข้างมากของบอร์ด ‘โหวตคว่ำ’ ไปหลายครั้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 

การประชุมครั้งที่ผ่านมาล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 เนื่องจากมีข้อกังวลเรื่องความซ้ำซ้อนกับโครงการระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข ที่รัฐบาลมีมติอนุมัติงบประมาณไปแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการร่วมกัน และมีการเปิดตัวโครงการเฟสแรกแล้วเมื่อปลายเดือน มีนาคม 2567

ทั้งนี้ โครงการระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข มีเป้าหมายสำคัญในการตั้งระบบสารสนเทศ ที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชน ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 807 แห่ง และ รพ.สต. จำนวน 4,507 แห่ง รวมถึงการพัฒนาระบบ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางเพื่อรองรับสถานพยาบาลนอกสังกัดอีกด้วย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ระบุด้วยว่า คาดว่าระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขจะถูกใช้กับ รพ.สต. ราว 800 แห่ง (จากจำนวนกว่า 4,000 แห่งในสังกัด สธ.) ในเดือน สิงหาคม 2567

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์