ผู้ถือหุ้นกู้ EA โวยSCB ไม่ปกป้องสิทธิของเจ้าหนี้

9 ส.ค. 2567 - 01:17

  • EA ยังหาทางรับมือกับหุ้นกู้ครบกำหนดได้

  • นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อขอยืดเวลาไปอีก 10 เดือน

  • รายย่อยไม่พอใจการทำงาน SCB ที่ไม่ปกป้องสิทธิเจ้าหนี้

economic-ea-stock-scb-SPACEBAR-Hero.jpg

ในการประชุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ของ EA เป็นการนัดประชุมเฉพาะผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทรุ่นEA248A วงเงิน 1,500 ล้านบาท ที่ครบครบกำหนดไถ่ถอน โดยขอเลื่อนออกไป 10 เดือน 15 วัน ไปครบกำหนดชำระในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดและการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 1.89% ต่อปี จากเดิมอัตราดอกเบี้ยคงที่3.11% ต่อปี เป็น 5.00% ต่อปี โดยจะชำระดอกเบี้ยซึ่งรวมถึงอัตราที่เพิ่มขึ้นทุก 6 เดือนนับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม และการเพิ่มหลักประกันแก่หุ้นกู้

นอกจากนี้ EA ยังมีแผนที่จะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทรุ่น EA249A ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 วงเงิน 4,000 ล้านบาท ที่ครอบกำหนดไถ่ถอน โดยขอเลื่อนออกไป 9 เดือน 1 วัน โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดและการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 1.80% ต่อปี จากเดิมอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.20 % ต่อปีเป็นร้อยละ 5.00 ต่อปี โดยจะชำระดอกเบี้ยซึ่งรวมถึงอัตราที่เพิ่มขึ้นทุก 6 เดือนนับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม และการเพิ่มหลักประกันแก่หุ้นกู้

ข้อเสนอดังกล่าวเกิดจากตัวแทนของกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ EA ทั้ง 2 รุ่น คือ EA248A และ รุ่น EA249A ส่งหนังสือไปถึง สมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการ EA และ วุฒิเลิศ เจียรนิลกุลชัย กรรมการ EA และยังส่งสำเนาไปถึง ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ EA248A และธนาคารเกียรตินาคิน ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ EA249A เพื่อขอเพิ่มเงื่อนไขการขยายเวลาการครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ 2 ชุด และมีความเห็นว่า การเพิ่มเงื่อนไขดังกล่าวควรใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับหุ้นกู้ทุกรุ่นที่เหลือหากจำเป็นต้องขยายการครบกำหนดไถ่ถอนในอนาคต

หลักการสำคัญคือ EA ควรเพิ่มหลักทรัพย์สำหรับค้ำประกันหนี้หุ้นกู้โดยเฉพาะ โดยอาจจะเป็นที่ดินหรือตัวบุคคลที่มีทรัพย์สินส่วนตัวจำนวนมาก และเคยทำรายได้สูงจากมูลค่าของหุ้นสามัญในอดีตซึ่งพุ่งเป้าไปที่ สมโภชน์ อาหุนัย อดีตซีอีโอของ EA ที่ยังมีหุ้นที่อยู่ในมือเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ควรพิจารณาเพิ่มการจ่ายดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่สูงขึ้นจากการจัดอันดับของบริษัทเครดิตเรทติ้ง รวมถึงควรจ่ายดอกเบี้ยให้ถี่ขึ้นจากทุก 6 เดือน เป็นทุก 3 เดือนหากเป็นไปได้

ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ไม่พอใจกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่EA เพิ่งไปเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับ บล.แอสเซท พลัส ธนาคารและสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ในการปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ B/E รุ่น EA284723A วงเงิน 400 ล้านบาท และรุ่น EA24801A วงเงิน 300 ล้านบาท ทั้งที่ยังไม่ครบกำหนดชำระ

ในการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว EA ยอมเพิ่มดอกเบี้ยจากเดิมให้เป็นไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี รวมทั้งยินยอมที่จะทยอยชำระคืนหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือนภายในกำหนดระยะเวลา 36 เดือน พร้อมทั้งเสนอให้หลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากภาครัฐ

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยอีกจำนวนหนึ่งยังยื่นหนังสือถึงธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A, EA269A และ EA289A และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA248A, EA257A, EA259A, EA261A, EA279A, EA281A, EA297A, EA298A,EA299A, EA301A, EA329A และ EA331A เพื่อขอให้พิจารณาข้อเสนอและทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้ EA ว่าถูกต้องตามข้อกำหนดสิทธิหรือไม่

กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้กลุ่มนี้ เรียกร้องให้ SCB และ KKP ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ EA ทุกรุ่นอย่างเต็มที่ เพราะ EA เข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มีมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท กับ บล.แอสเซท พลัส ธนาคารและสถาบันการเงิน และปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วเงินรุ่น EA284723A (400 ลบ.) และEA24801A (300 ลบ.) ไปแล้วทั้งที่ยังไม่ครบกำหนดชำระ (9 ส.ค.67)

นอกจากนั้นในการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว EA ยังเสนอให้หลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากภาครัฐ และเสนอเพิ่มดอกเบี้ยจากเดิมให้เป็นไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี รวมทั้งยินยอมที่จะทยอยชำระคืนหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นงวดรายเดือนภายในกำหนดระยะเวลา 36 เดือน ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่น

ในจดหมายระบุว่าการที่ EA ได้เข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับแอสเซท พลัส ธนาคาร สถาบันการเงินอื่น อีกทั้งจะเรียกประชุมเพื่อเสนอหลักประกันให้กับผู้ถือหุ้นกู้เฉพาะ 248A และ 249A เป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสิทธิหรือไม่ ถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เป็นการริดรอนสิทธิผู้ถือหุ้นกู้รุ่นอื่น ๆ ที่ยังไม่ครบกำหนด

กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้จึงเรียกร้องให้ SCB และ KKP เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นภายในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ เพื่อรับทราบรายละเอียดเงื่อนไขข้อเสนอไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้สามารถตัดสินใจปกป้องผลประโยชน์ของตนเองอย่างเป็นธรรม โดยให้ยกเลิกการประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น 249A ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 นี้ออกไปก่อน

รวมถึงให้แก้ไขข้อตกลงกับ บล.แอสเซท พลัส ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตั๋วเงิน โดยกำหนดให้ผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นเป็นเจ้าหนี้ในลำดับเดียวกัน คือลำดับที่ 1 พร้อมทั้งนำกระแสเงินสดจากรายได้ค่าไฟฟ้าที่ขายให้รัฐบาลมาเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ตามสัดส่วนที่เหมาะสมเท่าเทียมกับเจ้าหนี้รายอื่น และขอให้ทาง EA นำหลักประกันมาเพิ่ม เพราะปัจจุบันมียอดหนี้หุ้นกู้คงค้างทุกรุ่นเป็นจำนวนมากกว่า 30,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังเห็นว่าข้อเสนอการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 1.80-1.89% แลกกับการขยายเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ ไม่ได้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยผิดนัดเท่ากับอัตราดอกเบี้ยบวก 2% ขณะที่ EA ถูกปรับลดอันดับเครดิตจาก A- เป็น BB+ ถือเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง 

มีการตั้งคำถามถึงบทบาทของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สวมหมวกหลายใบ ทั้งในฐานะเจ้าหนี้ของ EA ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ EA ผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ EA และนายทะเบียนหุ้นกู้ EA ถือว่าเป็น Conflict of Interest หรือไม่ สามารถชี้แจงได้อย่างโปร่งใสหรือไม่ เพราะเหตุใดผู้ถือหุ้นกู้จึงไม่ได้สิทธิในหลักประกันหนี้ในลำดับที่เท่าเทียมกับเจ้าหนี้ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ ท่านได้เจรจาต่อรองอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่

จนถึงตอนนี้ ในการปรับโครงสร้างหนี้ของ EA เพื่อให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้ จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหญ่ โดยคาดว่าแหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับการชำระหนี้หุ้นกู้และดอกเบี้ยจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท โดยบริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกระแสเงินสดหลักให้กับบริษัท

ขณะเดียวกัน ก็หวังว่าจะมีจากเงินทุนที่ได้รับจากการเข้าร่วมทุนกับผู้ร่วมทุนรายใหม่ Strategic Partner ที่ให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ของบริษัท ซึ่งขณะนี้บริษัท ‘อยู่ระหว่างเจรจา’ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน เพิ่มศักยภาพในการชำระหนี้ และพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

แต่แนวทางการหาผู้ร่วมทุนในเวลานี้ก็ดูจะเป็นเรื่องยาก จึงอาจจะต้องพิจารณาจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัท หรือใช้วิธีซึ่งระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่นักลงทุนที่ให้ความสนใจ

ล่าสุด EA ได้ปรับเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ โดยแต่งตั้ง ฉัตรพล ศรีประทุม ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) แทน สมใจนึก เองตระกูล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่เพิ่งแต่งตั้งไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้  สมใจนึก ยังคงปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการเช่นเดิม

ขณะเดียวกันยังแต่งตั้ง วสุ กลมเกลี้ยง เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) และแต่งตั้ง สุพันธุ์ มงคลสุธี ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทแทน ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ กรรมการที่ลาออก ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์