ราคาทองคำพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

22 มีนาคม 2567 - 03:29

economic-gold-central-banks-SPACEBAR-Hero.jpg
  • คาดทองปรับตัวขึ้นไปถึงระดับ 2,300 ดอลลาร์/ออนซ์ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

  • ธนาคารกลางหลายแห่ง ยังคงเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นไปถึงระดับ 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะบนพื้นฐานของความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่อาจลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากทองคำมักมีความสัมพันธ์แปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ย เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่น่าดึงดูดใจเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ประเภทหนี้สินเช่นพันธบัตร ซึ่งจะให้ผลตอบแทนต่ำกว่าในสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ

บริษัทแมคแควรีคาดการณ์ว่าทองคำจะทำจุดสูงสุดใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง จากการเข้าซื้อของบรรดาธนาคารกลางประเทศใหญ่หลายแห่ง ซึ่งเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ในปี 2567 ต่อเนื่องจากช่วงสองปีที่ผ่านมาที่ซื้อทองคำในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่หนุนราคาทองคำให้ปรับขึ้นแม้จะยังอยู่ในห้วงอัตราดอกเบี้ยสูงและเงินดอลลาร์แข็งค่าก็ตาม

อย่างไรก็ดี การซื้อทองคำของธนาคารกลาง ยังมีเหตุผลจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก สะท้อนจากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัสเซียและจีนเป็นสองประเทศผู้ซื้อทองคำมากที่สุด โดยเฉพาะจีนนับเป็นผู้นำทั้งด้าน  อุปสงค์ทองคำเพื่อการบริโภคและเพื่อเป็นทุนสำรองในคลังของธนาคารกลาง ซึ่งธนาคารกลางจีนนับเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดในปี 2566 นอกจากนี้เศรษฐกิจจีนที่ซบเซาและวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ก็หนุนให้นักลงทุนหันมาแสวงหาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในทองคำของนักลงทุนรายย่อยจีนที่ยังคงแข็งแกร่งนอกเหนือจากจีน  โปแลนด์ก็นับเป็นผู้ซื้อทองคำสุทธิรายใหญ่เป็นอันดับสองในปีที่ผ่านมา ที่ซื้อทองคำเข้าคลังถึง 130 ตัน ซึ่ง บริษัทวีตัน เพรเชียส เมทัลส์ระบุว่าเหตุผลหลักมาจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุสงครามรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นใกล้บ้าน

สะท้อนก่อนหน้านี้ในปี 2564 ธนาคารกลางโปแลนด์เคยประกาศแผนซื้อทองคำ 100 ตันด้วยเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มความมั่นคงทางการเงินของประเทศ

economic-gold-central-banks-SPACEBAR-Photo01.jpg

สำหรับประเทศที่ซื้อทองคำสุทธิมากเป็นอันดับสามในปี 2566 คือสิงคโปร์ โดยมาจากการซื้อของธนาคารกลางสิงคโปร์ ที่ซื้อทองคำเข้าคลังถึง 76.51 ตัน แม้จะไม่เปิดเผยเหตุผลในการลงทุนครั้งนี้ แต่ตลาดเชื่อว่าเป็นเพราะความกังวลต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมืองจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ปรับสัดส่วนสำรองตามมุมมองความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป

นอกจากแรงซื้อจากธนาคารกลางในแง่ของอุปสงค์ทองคำจากนักลงทุนรายย่อยระดับผู้บริโภค ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่หนุนราคาทองคำให้แข็งแกร่งขึ้น โดยนอกจากธนาคารกลางจีนจะซื้อทองคำมากสุดแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนก็มีการซื้อทองคำในระดับค้าปลีกสูงสุดเช่นกัน
จากข้อมูลของสภาโลกแห่งทองคำ จีนสามารถแซงหน้าอินเดียเป็นผู้ซื้อทองคำเพื่อการประดับเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2566 โดยผู้บริโภคจีนซื้อทองคำรูปพรรณเพื่อการประดับกว่า 603 ตัน เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนหน้าควบคู่ไปกับอุปสงค์จากจีน อินเดียก็ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการทองคำจากผู้บริโภคมากที่สุดของโลก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลแต่งงานของอินเดียตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม และมกราคมถึงมีนาคม  

อย่างไรก็ตามราคาทองคำที่แพงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย โดยข้อมูลจากสภาโลกแห่งทองคำระบุว่า อุปสงค์ทองคำเพื่อการประดับของอินเดียลดลง 6% สู่ระดับ 562.3 ตันในปี 2566  ส่วนการลงทุนในทองคำรูปแท่งและเหรียญของอินเดียกลับเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนหน้า  ด้านอุปสงค์ทองคำจากธนาคารกลางอินเดียหรือธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ก็ยังคงแข็งแกร่ง โดย RBI ซื้อทองคำเข้าคลังถึง 8.7 ตันในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดรายเดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา

นอกเหนือจากจีนและอินเดียแล้ว ตุรกีก็มีอุปสงค์ทองคำในปีที่แล้วเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 ตามข้อมูลของสภาโลกแห่งทองคำ

สำหรับราคาทองวันนี้ในประเทศ (22 มี.ค. 2567) ปรับลง 100 บาท ทองคำแท่งในประเทศ ราคารับซื้ออยู่ที่บาทละ 37,450 บาท ขายออกที่ราคาบาทละ 37,550บาท ตามประกาศครั้งที่ 1 ประจำวันนี้

ข้อมูลจาก CNBC

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์