รถไฟ ‘ซีพี ’เชื่อม 3 สนามบิน 22 พ.ค.หลุดบีโอไออาจเลิกสัญญา

16 มีนาคม 2567 - 02:45

economic-high-speed-train-SPACEBAR-Hero.jpg
  • คณะอนุกรรมาธิการศาล ติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

  • หลังซีพีชนะการประมูลไปแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า

  • ขีดเส้นตาย 22 พฤษภาคมนี้ ไม่ได้รับบีโอไออาจยกเลิกสัญญา

คณะอนุกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน คณะที่ 1 เชิญตัวแทนจากกระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และบจ.เอเชีย เอรา วัน (ซีพี) ร่วมประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา 

เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบปัญหาที่เกี่ยวกับโครงการโดยเฉพาะการส่งมอบหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ที่ยังไม่สามารถส่งมอบให้เอกชนได้มาจากเงื่อนไขที่จะต้องให้เอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากBOI ก่อน ซึ่งได้รับการขยายเวลาถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 นี้ หากพ้นวันดังกล่าวไป อาจจะนำมาสู่การยกเลิกสัญญาโครงการได้

หากมีการยกเลิกสัญญา ทางเลือกจะเปิดประมูลโครงการใหม่ หรือเชิญกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) , บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) , บมจ.ราชกรุ๊ป ผู้เสนอราคารองลงมาที่ 169,934 ล้านบาทมาเจรจาต่อรอง  ทางรฟท.และอีอีซี ขอเวลากับคณะอนุกรรมาธิการกลับไปหารือภายใน และอาจจะมีการหารือกับอัยการสูงสุดด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการจะทำหนังสือส่งไป เพื่อขอรายละเอียดในการหารือดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมาธิการ มีข้อเสนอแนะว่า หากสามารถส่งเอกสารและหลักฐานให้ BOI ได้ก่อนวันที่กำหนดก็ควรทำ

เบญจา กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมทางอัยการสูงสุดให้ความเห็นว่า ถ้าทางซีพีจะเป็นฝ่ายเลิกสัญญาในตอนนี้ จะไม่ต้องเสียค่าปรับอะไร เพราะ NTP ยังไม่ได้ส่งมอบให้เริ่มงาน แต่ด้านหนึ่งทาง รฟท.และอีอีซีก็ยังมีข้อกังวลคือ หากรัฐเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญากับ ซีพีเอง จะสุ่มเสี่ยงถูกเอกชนฟ้องร้องเหมือนโครงการโฮปเวลล์หรือไม่ แม้ในสัญญาจะมีช่องทางให้รัฐฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเอกชนได้ก็ตาม แต่เบื้องต้นทั้งรฟท.และอีอีซี ไม่ต้องการให้ไปถึงจุดที่ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับเอกชน เบื้องต้นทั้ง รฟท. อีอีซี และซีพีจะหารือกันอีกครั้ง

ส่วนทางฝั่งเอกชน ได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่ยังไม่ได้ส่งรายละเอียดบางส่วนที่เกี่ยวกับการขอบัตรส่งเสริมการลงทุน มาจากการที่แหล่งเงินกู้ที่ไปยื่นขอไว้จากหลายๆแห่ง ยังไม่อนุมัติให้ ขณะนี้การอนุมัติเงินกู้จากแหล่งเงินต่างๆที่ไปยื่นขอไว้ ทำได้ยาก เพราะผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงปี 2562-2564 ทำให้สถาบันการเงินที่ไปทำเรื่องไว้ต้องพิจารณาคำขอ เพราะที่เอกชนไปทำเรื่องไว้ ก็เป็นการขอกู้ในจำนวนเงินที่มหาศาล อย่างไรก็ตาม ทาง ซีพี ไม่ได้ชี้แจงว่า แหล่งเงินกู้ที่ไปขอไว้มีที่ไหน และอยู่ในหรือนอกประเทศ

กรณีที่มีการลงนามในสัญญามาตั้งแต่ปี 2562 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถก่อสร้างได้ ทางอัยการสูงสุดชี้แจงว่า ไม่ได้เอื้อเอกชน แต่ยึดตามสัญญาร่วมทุนข้อที่ 39 ระบุว่า เงื่อนไขของสัญญาที่จะเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถแก้เหตุสุดวิสัยเพื่อยกเลิกสัญญาหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาได้  

เหตุผลที่สัญญามีกำหนดแบบนี้ เพราะทางรัฐมองว่าโครงการนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ไม่ใช่สัญญาที่มีสภาพบังคับเหมือนการจ้างก่อสร้างทั่วไป 

นอกจากนี้ ซีพี ยังได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ได้ทำการศึกษาอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) และอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ของโครงการใหม่ พบว่าผลการตอบแทนการลงทุนโครงการไม่คุ้มทุนแล้ว หลังจากก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลการตอบแทนโครงการยังคุ้มทุนอยู่ โดยมีการส่งข้อสังเกตนี้ให้สำนักงานอัยการสูงสุด รฟท.และอีอีซีรับทราบด้วย

ขอบคุณข้อมูล  สำนักข่าวอิศรา
https://www.isranews.org/article/isranews/127031-transport-14.html

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์