ร้อง ‘กลต.- ดีเอสไอ’ สอบ JKN ดีลลับขาย ‘จักรวาล’

10 มีนาคม 2567 - 02:59

economic-jkn-dsi-muoo-stock-SPACEBAR-Hero.jpg
  • กลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ JKN ร้อง กลต. และ ดีเอสไอ

  • เร่งตรวจสอบดีลลับ ระหว่าง JKN กับ ราอูล โรชา นักธุรกิจเม็กซิกัน

  • อาจจะเข้าข่าย ยักยอก ถ่ายเททรัพย์ ถ้าเกิดขึ้นการติดตามหนี้จาก JKN จะยากขึ้น

กลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ JKN ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา โดยแถลงการณ์ได้ส่งถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พรอนงค์ บุราตระกูล และรักษาการณ์อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ โดยขอให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ตรวจสอบและเรียกบริษัท JKN มาชี้แจงข้อมูล 

ในแถลงการณ์ระบุว่าได้มีข้อมูลปรากฏบนเว็บไซต์ SPACEBAR เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 หัวข้อข่าวเปิดข้อตกลงลัย แอน-ราอูล ยก ‘จักรวาล’ ให้เศรษฐีเม็กซิกันโดยมีเนื้อหาว่า

1. บันทึกลับดังกล่าวเป็นการสื่อสารกันระหว่าง แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ กับ ราอูล ในราวปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดย ‘ราอูล’ มีการตั้งคำถามแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ของ JKN ที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน และอาจเป็นเหตุให้ ‘แอน’ เสียการควบคุม หรือต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลายจะทำให้มีความเสี่ยงต่อแผนธุรกิจหรือไม่ 

แอน จักรพงษ์ ได้เสนอข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญาซื้อหุ้น MUO เปิดทางว่า ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว จะยินยอมให้ราอูลสามารถใช้สิทธิ์ Call Option ซื้อหุ้นที่เหลืออีก 50% จาก JKN ในราคายุติธรรม แต่ไม่เกิน 16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

บันทึกแนบท้ายที่ระบุถึง Call Option ในการให้สิทธิ์ LHG ซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งดังกล่าว ทำให้กลุ่มเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้มีความกังวลว่า หากสัญญาแนบท้ายข้อตกลงซื้อขายดังกล่าวมีผลทางกฎหมาย อาจทำให้องค์กรนางงามจักรวาล MUO ที่อาจจะเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากที่สุดของ JKN เวลานี้อาจจะหลุดไปอยู่ในมือของ เศรษฐีเม็กซิกัน ที่เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นของแอนจักรพงษ์ ก็เพียงเปลี่ยนบทบาทจากเจ้าของมาเป็นผู้บริหาร ทิ้งภาระอื่น ๆ ของ JKN ให้เจ้าหนี้จัดการกันเอง ซึ่งเงินที่ได้จากการขายนี้จะเข้าไปบริษัทลูกที่สิงคโปร์ ซึ่งยากแก่เจ้าหนี้ในการติดตามเงินก้อนนี้เพื่อมาใช้หนี้

ลิขสิทธิ์องค์กรนางงามจักรวาล MUO อาจจะเป็นทรัพย์สินเดียวที่มีมูลค่า และโอกาสทางธุรกิจในอนาคต ซึ่งหากถูกตัดขายออกไปให้กับราอูล มหาเศรษฐีเม็กซิโก JKN ก็แทบจะเหลือแต่ ‘ซาก’ ที่มองไม่เห็นหนทางฟื้นฟู   

2. ยังมีกระแสข่าวว่า แอน จักรพงษ์ กำลังเปิดเจรจาดีลลับ ที่จะเปลี่ยนสัญญาเช่าเวลาของ JKN 18 กับ TOP Newsมาเป็นรูปแบบการขายทิ้งให้กับกลุ่มของคีรี กาญจนพาสน์ ในราคาประมาณ 200 ล้านบาท จากเดิมที่จ่ายในรูปแบบเช่าเวลาผลิตรายการ ในราคาเดือนละ 5 ล้านบาท

เหตุการณ์ทั้ง 2 ข้อนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ยืนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ อันจะชี้นำไปได้ว่าเป็นการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปจากเจ้าหนี้ และเป็นการไม่ปฎิบัติตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของธุรกรรมที่อันจะมีผลต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม

สำหรับกลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้  JKN ได้มีการรวมตัวกัน เพื่อติดตามและตรวจสอบธุรกรรมต่าง ๆ ของ JKN หลังจากเข้าสู้กระบวนการฟื้นฟู ซึ่งกลุ่มผู้เสียหายและเจ้าหนี้ ต่างมีความเห็นตรงกันว่า บริษัทควรแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู 

บล.เอเชียพลัส ทวงหนี้หุ้นกู้

ส่วนทางด้าน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์  ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8มีนาคมว่า ตามที่หุ้นกู้ของบริษัท ครั้งที่ 2/2563 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2567 (หุ้นกู้รุ่น JKN239A) ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น JKN239A ครั้งที่ 1/2566 ประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ได้อนุมัติเลื่อนกำหนดการชำระคืนเงินต้นจำนวนเงิน 19.50 ล้านบาท ไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2566

ส่วนที่เหลือจำนวนเงิน 432.45 ล้านบาท ให้ชำระคืนในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 และปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มจากเดิมร้อยละ 6.60 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 7 ต่อปี และผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติการขอผ่อนผันให้การผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในวันครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 1 กันยายน 2566 ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดและไม่เรียกชำระหนี้ตามหุ้นกู้โดยพลันนั้น 

ทั้งนี้ ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 บริษัทได้รับหนังสือจาก บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้รุ่น JKN239A แจ้งการผิดนัดหุ้นกู้และเรียกให้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามหุ้นกู้โดยเร็วที่สุด

เนื่องจากบริษัทในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ยังไม่ได้ทำการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายในวันที่กำหนดตามข้อกำหนดสิทธิ กรณีดังกล่าวจึงถือเป็นการผิดนัดตามข้อ 12.1 (ก) แห่งข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ (ข้อกำหนดสิทธิ) เพื่อเรียกให้บริษัทชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิคำนวณจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 467.12 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 9 นับแต่วันที่ผิดนัดชำระเป็นต้นไปจนกว่าบริษัทจะชำระจนเสร็จสิ้น โดยขอให้ชำระภายใน 7 วันนับจากวันที่ที่ระบุในหนังสือดังกล่าว

แถลงการณ์.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์