รับจ่ายบิล ใครได้ประโยชน์? แบงก์ชาติเตือนระวังโดนมิจฉาชีพหลอก

2 พ.ค. 2567 - 09:21

  • รับจ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค ผ่านโลกโซเชียล

  • แบงก์ชาติ ชี้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่สนับสนุน

economic-water-bills-electricity-telephone-shopee-SPACEBAR-Hero.jpg

ยังคงเป็นกระแสร้อนแรงในโลกออนไลน์ ประเด็นมีการโพสต์เปิดรับจ่ายบิลค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ระหว่างกันเป็นจำนวนมากในกลุ่มเฟซบุ๊ก Shopee My SPayLater SEasyCash Thailand ซึ่งการเปิดโพสต์รับจ่ายบิลต่าง ๆ จะนำโปรแกรม ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หรือ Buy Now Pay Later ผ่านช่องทางแพลตฟอร์มอย่าง SPayLater ของ Shopee โดยผู้ขายนำวงเงินไปใช้ในการหมุนเวียนสภาพคล่องได้

SPayLater คืออะไร?

SPayLater คือ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อแบบหมุนเวียน (Revolving Credit) ที่ให้บริการแก่ผู้ซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มช้อปปี้ที่ได้รับเชิญ เพื่อใช้เป็นช่องทางชำระเงินในการซื้อสินค้าต่างๆ บนแพลตฟอร์มช้อปปี้ (ซึ่งไม่สามารถถอนเป็นเงินได้) โดยจะมีทั้งแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later) และแบบผ่อนชำระ โดยการสมัครใช้สินเชื่อ SPayLater ไม่ต้องใช้เอกสารใด ๆ และไม่มีการขอหลักประกันใด ๆ เพิ่มเติม 

ผู้ที่สมัครใช้บริการ SPayLater สำเร็จก่อนวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 จะได้รับบริการ SPayLater จากบริษัท ยูนิคอร์น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

ส่วนผู้ที่สมัครใช้บริการ SPayLater สำเร็จตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป จะได้รับบริการ SPayLater จากบริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

คนจ่ายบิลให้ – เจ้าของบิลได้อะไร?

สำหรับคนจ่ายบิลแทน อาจเจอกับส่วนต่างค่าใช้จ่ายจากเจ้าของบิล แต่ก็ยืมเงินได้จาก SPayLater มาผ่อนจ่ายดอกเบี้ยราคาถูก แล้วถ้าหากจ่ายเงินตามกำหนด แล้วเอารวมกับโปรโมชันพิเศษต่าง ๆ ก็จะช่วยหักลบส่วนต่าง ๆ ไปได้อีก ส่วนเจ้าของบิล จะได้ก็คือ จ่ายบิลถูกลง จากยอดเต็มประมาณ 10-20% 

จากกรณีดังกล่าว ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ออกมาเตือนว่าการซื้อขายบิลค่าสาธารณูปโภคผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ผ่านโปรแกรม ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง แม้ว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่สนับสนุน เพราะอาจเป็นการเปิดช่องทางให้มิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวงได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์