ขึ้นค่าแรงแล้วของจะแพง เรื่องจริงหรือมายาคติ?

9 ธ.ค. 2565 - 09:01

  • ตามหลักการเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแล้ว การขึ้นค่าแรงทำให้นายทุนต้องแบกรับต้นทุนเพิ่ม เมื่อต้นทุนเพิ่มผลประกอบการจะลดลง

  • เมื่อผลประกอบการลดลงจึงต้องขึ้นราคาสินค้า เมื่อสินค้าแพงขึ้นกำลังซื้อของผู้คนจะลดลง

economics-minimum-wage-price spiral-SPACEBAR-Thumbnail
เราถูกทำให้กังวลกับการขึ้นค่าแรงเกินไปหรือไม่ หรือว่ามันมีผลกระทบร้ายแรงจริงๆ ?  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/40dK8uNGZYcWa1DAiRNIdv/bfd0bd48e971c9d8497a1e0944b6c149/economics-minimum-wage-price_spiral-SPACEBAR-Photo01
เป็นเรื่องที่เถียงกันไม่รู้จบว่าการขึ้นค่าแรงทำให้ข้าวของแพงตามไปด้วยหรือเปล่า เพราะนักเศรษฐศาสตร์ที่เถียงกันต่างก็ใช้ทฤษฎีคนละอย่าง และมีมุมมองต่อแรงงานกับนายทุนต่างกัน  

ว่ากันตามหลักการเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแล้ว การขึ้นค่าแรงทำให้นายทุนต้องแบกรับต้นทุนเพิ่ม เมื่อต้นทุนเพิ่มผลประกอบการจะลดลง เมื่อผลประกอบการลดลงจึงต้องขึ้นราคาสินค้า เมื่อสินค้าแพงขึ้นกำลังซื้อของผู้คนจะลดลง เมื่อนั้นเศรษฐกิจจะซบเซา หรือหากนายทุนไม่เพิ่มราคาสินค้าก็อาจจะลดจำนวนแรงงานลง ซึ่งก็จะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา  

ด้วยกลไกเดียวกันแต่จากอีกมุมมองหนึ่งก็คือ เมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น แรงงานจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าถูกซื้อมากจนขาดตลาด เมื่อขาดตลาดทำให้สินค้าเแพงเพราะความต้องการมีมากกว่าจำนวนสินค้า   

ข้างต้นนี้เป็นตรรกะหรือกลไกของการขึ้นค่าแรงตามแนวทางของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่เรียกกันว่า Wage-price spiral หรือแปลง่ายๆ ก็คือ ‘ค่าแรงขึ้น ราคาจะขึ้นเป็นเงาตามตัว เหมือนเกลียวที่หมุนวนขึ้นไปเรื่อยๆ’ 

ในปีนี้ทั้ง IMF และ BIS ซึ่งเป็นองค์กรการเงินระหว่างประเทศเตือนว่าโลกเราจะมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อพุ่งเพราะค่าแรงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว แสดงให้เห็นว่าปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องทางทฤษฎี แต่เป็นภัยคุกคามจริงๆ และวิธีแก้มีไม่กี่วิธี หนึ่งในนั้นคือการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องดีไปเสียทั้งหมดอีก เพราะจะทำให้เศรษฐกิจซบเซาได้   

แต่มีประเด็นถกเถียงกันว่า ตกแล้ว ‘ทฤษฎีค่าแรงขึ้นแล้วของจะแพง’ มันเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่? หรือว่าเป็นแค่การใช้หลักเศรษฐศาสตร์มาโน้มน้าวให้สังคมเชื่อว่าแรงงานไม่ควรได้รับค่าแรงเพิ่ม หรือพูดง่ายๆ ก็คือ พวกเขาอ้างเหตุผลนี้เพื่อทำให้สังคมรู้สึกขยาดกับการขึ้นค่าแรง เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของนายทุน? 

มันมีนักเศรษฐศาสตร์ที่คิดแบบนี้จริงๆ โดยเฉพาะนักคิดฝ่ายซ้าย (คือฝ่ายสังคมนิยม) ที่ชี้ว่า Wage-price spiral เป็นแค่วาทกรรมที่สร้างขึ้นมาให้คนกลัวการขึ้นค่าแรง   

ในอังกฤษ ซึ่งพรรคการเมืองมีนโยบายที่ต่างกันชัดเจนเรื่องค่าแรง คือพรรคแรงงาน (ที่เกื้อหนุนคนทำงานหาเช้ากินค่ำ) กับพรรคอนุรักษ์นิยม หรือพรรคทอรี่ (ที่เอื้อนายทุนและชนชั้นนำในสังคม) ทัศนะเกี่ยวกับ Wage-price spiral ก็ต่างกันไปด้วยตามท่าทีทางการเมือง  

เช่น เมื่อช่วงกลางปีนี้ กระทรวงการคลังอังกฤษ (ซึ่งเป็นรัฐบาลพรรคทอรี่) เตือนว่าค่าแรงที่สูงขึ้นจะทำให้ข้าวของแพงขึ้น และควรจะต้องควบคุมค่าแรง ส่งผลให้สหภาพแรงงานไม่พอใจและเรียกร้องให้รัฐบาลแก่ปัญหาเงินเฟ้อให้ตรงจุดจะดีกว่า   

ในช่วงเวลาเดียวกัน Socialist Worker สื่อฝ่ายซ้ายในอังกฤษโจมตีรัฐบาลทอรี่ว่าพยายามสร้าง ‘มายาคติ’ หรือความเชื่อผิดๆ เรื่องค่าแรงขึ้นแล้วจะทำให้ของแพง ผู้เขียนบทความเรื่อง Don’t swallow Tory myth of the ‘wage-price spiral’ บอกว่า ‘การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างไม่ได้ผลักดันอัตราเงินเฟ้อเลย ค่าแรงเฉลี่ยในอังกฤษลดลงในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบกว่าสองทศวรรษ เมื่อคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อแล้ว ค่าจ้างรวมเฉลี่ยระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนปีนี้ลดลง 2.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว’  

นั่นหมายความว่า ขณะที่เงินเฟ้อสูงขึ้นในอังกฤษ ค่าแรงกลับลดลงด้วยซ้ำ เท่ากับว่าหลักการของ Wage-price spiral ไม่ถูกต้องแล้วในกรณีนี้  

Phillip Inman บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจของ Guardian สื่อของอังกฤษ (ที่เอียงซ้ายเล็กน้อย) ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970s ซึ่งการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานยังแข็งแกร่ง อยู่ในอังกฤษ  

ตอนนั้นอำนาจการต่อรองของสหภาพและแรงงงานมีสูงมากในการขอให้นายจ้างขึ้นค่าแรง ผลก็คือเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงมาก แต่หลังจากปี 1976 เป็นต้นมาค่าแรงเริ่มไล่ตามเงินเฟ้อไม่ทัน จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนั้น  

ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงท้ายของทศวรรษที่ 1970s จนถึงทศวรรษที่ 1980s สภาพแรงงานถูกรัฐบาลทอรี่บ่อนทำลายจนอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากน้ำมือของ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีทอรี่ที่เป็นมีนโยบายเอื้อนายทุน  

ดังนั้น แรงงานในอังกฤษจึงมีพลังลดลงในการเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม และค่าแรงขยับขึ้นน้อยมากในระยะหลัง แต่แล้วเงินเฟ้อกลับสูงมากทั้งๆ ที่ค่าแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น นั่นแสดงว่าหลักการ Wage-price spiral ใช้การไม่ได้ในบางกรณี  

ความไม่สมบูรณ์แบบของหลักการ Wage-price spiral เป็นสิ่งที่นักคิดฝ่ายซ้ายโจมตีมาตลอด เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าการขึ้นค่าแรงไม่ได้เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจเลย และยังเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย  

เช่นเดียวกับสื่อฝ่ายซ้ายอย่าง Socialist Worker นิตยสารฝ่ายซ้ายในอังกฤษที่ชื่อ Tribune ก็ย้ำว่าการขึ้นค่าแรงทำให้ของแพงเป็นแค่ ‘มายาคติ’ หรือเรื่องคิดไปเอง ในบทความชื่อ The Wage-Price Spiral Is a Myth บอกว่า  

“ด้วยอัตราการตั้งสหภาพแรงงานที่ลดลงเกือบทุกปีตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 (โดยมีการพลิกกลับอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา) คนงานในภาคส่วนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้นได้ ส่วนสหภาพแรงงานที่มีการจัดตั้งที่ดีกว่า—โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาครัฐ—ยังคงเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างตามอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น ที่จริงแล้วมันเป็นหนทางหนึ่งในการบอกว่าพวกเขากำลังพยายามปกป้องตนเองจากการตัดค่าจ้างด้วยซ้ำ” 

นั่นหมายความว่า ค่าแรงคนทำงานในอังกฤษนอกจากจะไล่ตามเงินเฟ้อไม่ทันแล้ว การเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้นยังน้อยมาก น้อยจนเรียกได้ว่าเป็นการเรียกร้องเพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกลดค่าแรงเสียมากกว่า เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้นายจ้างคิดไปเองว่าหากลูกจ้างไม่ได้เรียกร้องอะไร พวกเขา (นายทุน) ก็น่าจะลดค่าแรงลงได้  

นี่คือกรณีศึกษาจากอังกฤษ ส่วนข้อเสนอให้ขึ้นค่าแรงในไทย เราต้องถ่วงดุลให้ดีกับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงความสามารถของภาคธุรกิจที่จะรับต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย   

หากมีอคติเกินไปกับแรงงาน หรือสงสารภาคธุรกิจมากกว่า หรือไม่ชอบพรรคที่เสนอนโยบายขึ้นค่าแรง ก็อาจหลงเชื่อทฤษฎี Wage-price spiral มากเกินไป  

แต่หากเอนเอียงเข้าทางแรงงานมากเกินไป หรือเชื่อฝังใจว่า Wage-price spiral จะต้องเป็นมายาคติทั้งหมด โดยไม่สนใจความน่าจะเป็นทางเศรษฐศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น และยังเชียร์พรรคที่เสนอนโยบายขึ้นค่าแรงแบบไม่ยั้ง ก็อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจปั่นป่วนได้เหมือนกัน   
 

ตัวอย่างของการลำเอียงแบบสุดโต่งจนพังพินาศแบบนี้ก็มาจากอังกฤษเช่นกัน  


ระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2521 และกุมภาพันธ์ 2522 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Winter of Discontent เมื่อสหภาพแรงงานทั่วอังกฤษนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงเพิ่มและต่อต้านนโยบายจำกัดการขึ้นค่าแรงของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องยอกย้อนอย่างยิ่งที่รัฐบาลที่จำกัดการขึ้นค่าแรงกลับเป็นรัฐบาลพรรคแรงงานที่ควรจะเข้าข้างแรงงานอันเป็นฐานเสียงของพวกเขา  

แต่รัฐบาลพรรคแรงงานเห็นว่า หากปล่อยให้สหภาพแรงงานเรียกร้องค่าแรงไม่หยุดจะทำให้เงินเฟ้อรุนแรงยิ่งขึ้น พวกเขาจึงต้องกัดฟันไม่ยอมคล้อยตามสหภาพแรงงาน ผลก็คือสหภาพแรงงานตอบโต้ด้วยการนัดหยุดงาน ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทั่วประเทศตลอดช่วงฤดูหนาว และทำให้ทัศนะคติของประชาชนต่อการเรียกร้องค่าแรงและสหภาพแรงงานเปลี่ยนไปตลอดกาล  

Winter of Discontent จึงไม่ใช่แค่ความไม่พอใจ (Discontent) ของแรงงาน แต่เป็นความเดือดดาลของประชาชนที่ต้องแบกรับผลกระทบจากการนัดหยุดงานประท้วงด้วย   

และผลจาก Discontent นี้ก็คือ พรรคแรงงานปลิวจากสถานะรัฐบาล พรรคทอรี่ก้าวขึ้นมาคุมประเทศ และมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เจ้าของฉายา ‘สตรีเหล็ก’ ใช้โอกาสนี้บดขยี้สหภาพแรงงานจนอ่อนแอ เปลี่ยนประเทศอังกฤษให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่อิงกับทุนมากกว่าสวัสดิภาพแรงงาน กว่าพรรคแรงงานจะกลับมามีอำนาจอีกครั้งก็ต้องรออีกถึง 18 ปีต่อมา  

จะเห็นได้ว่าการขึ้นค่าแรงแบบไร้สมดุลนั้นมีผลสะเทือนมากมายต่อชะตากรรมบ้านและพรรคการเมืองเมืองแค่ไหน  

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์