4 ปัจจัย ระเบิดเวลา อนาคต ‘ทุเรียนไทย’

30 ธันวาคม 2566 - 02:01

Economy-4risk-factors-for-the-ticking-time-bomb -ThaiDurian-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เจาะ ‘4 ปัจจัย ระเบิดเวลาอนาคตทุเรียนไทย’

  • พบ ประเทศเพื่อนบ้าน ปลูกทุเรียนรวม 1.4 ล้านตันต่อปี เสี่ยงถูกแย่งตลาด

  • ล้งไทย’ กำลังจะถูกฮุบ เหตุนายทุนจีน คุมตลาด

4 ปัจจัย ระเบิดเวลา อนาคต ‘ทุเรียนไทย’

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าอนาคตของสินค้าเกษตรกร อย่าง ‘ทุเรียน’ ที่เป็นที่นิยมในประเทศจีน มูลค่าส่งออกไปประเทศจีนราว 1.21 แสนล้านบาท มี 4 ปัจจัยที่กลายเป็นระเบิดเวลาอาจจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรไทยทั้งระบบ ได้แก่ 1.คุณภาพของผลผลิต 2.ผลผลิตทุเรียนที่มีโอกาสจะ Over Supply 3.ความเสี่ยงด้านการตลาดที่ถูกควบคุมโดยนายทุนต่างชาติ 4.ภาวะการขาดแคลนแรงงาน

1.คุณภาพของผลผลิต เช่น ทุเรียนอ่อน ทุเรียนไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากมาจากความต้องการทุเรียนสด ของประเทศจีนที่สูงมาก ทำให้ทุกปีในช่วงหน้าทุเรียน มีการลักลอบสวมสิทธิ์ ใบ GAP  หรือ ใบรับรองแหล่งผลิตในกลุ่มชาวสวน และ สวมสิทธิ์ใบ GMP หรือ ใบรับรองระบบการปฏิบัติที่ดีในการผลิต ในกลุ่มโรงงานคัดบรรจุ หรือ ล้ง ที่ทำการส่งออก ซึ่งใบรับรองเหล่านี้เป็นหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ

แต่หากกระบวนการไม่ถูกต้อง 100% จะทำให้อนาคตมี ทุเรียนอ่อน หลุดรอดไปยังประเทศปลายทางอีก ดังนั้น ผู้ประกอบการและเกษตรกร ต้องสร้างมาตรฐานคุณภาพทุเรียนไทยให้สูงขึ้น ด้วยการเข้าระบบตรวจสอบย้อนกลับแบบ 100 % พร้อมสร้างเอกลักษณ์ให้กับทุเรียน เพื่อสร้างมูลค่ามากขึ้น มากกว่าการขายแบบเอาปริมาณ โดยไม่คำนึกถึงคุณภาพ

Atth-Phisanwanich-1.jpg

2.ผลผลิตทุเรียนที่มีโอกาสจะ Over Supply โดยปัจจุบันตัวเลขของเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนในระบบอยู่ที่ 900,000 ไร่ ให้ผลผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี แต่ อ.อัทธ์ เชื่อว่า มีเกษตรกรที่ปลูกจริงในไทยสูงถึง 1.5 ล้านไร่ และปี 2567 จะมีผลผลิตทุเรียนออกมาสู่ท้องตลาดอาจสูงถึง 1.5 ล้านตันต่อปี โดยสัดส่วนกว่า 70 % ของผลผลิตส่งออกอีก 30 % บริโภคในประเทศ 

สัดส่วนที่ส่งออกราว 96 % ส่งออกไปประเทศจีน หรือ คิดเป็นราว 800,000 ตัน  พร้อมคาดการณ์ว่าในอนาคตภายใน 3 ปี ผลผลิตทุเรียนออกมาสู่ท้องตลาดอาจสูงถึง 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งถึงแม้ยังมีความต้องการทุเรียนในหลายมณฑลของจีน เช่น เซียงไฮ้ หนานจิง 

แต่ในเวลาเดียวกัน ประเทศไทยเพื่อนบ้าน อย่าง ประเทศมาเลเซีย ผลิตทุเรียนได้ถึง 400,000 ตันต่อปี ขณะที่ ประเทศเวียดนาม ที่ผลิตทุเรียนได้มากถึง 800,000 ตันต่อปี ประเทศลาว ผลิตทุเรียนได้ 100,000 ตันต่อปี และ กัมพูชา ผลิตทุเรียน 100,000 ตันต่อปี รวม 4 ประเทศเพื่อนบ้าน มีผลผลิตได้ถึง 1,400,000 ตันต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลไทยวางแผนจัดการเรื่องอุปสงค์-อุปทานของทุเรียนไม่สมดุล ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาที่ไม่มีเสถียรภาพได้

3.ความเสี่ยงด้านการตลาดที่ถูกควบคุมโดย ‘นายทุนต่างชาติ’ อย่างที่หลายคนรู้กันว่า โรงคัดบรรจุ หรือ ล้ง รับซื้อทุเรียนเพื่อส่งออก ในพื้นที่ภาคตะวันออก บางล้งผู้ประกอบการไทยเป็นนอมินีให้นายทุนชาวจีน ซึ่งทำให้ราคาซื้อขายทุเรียนสดในตลาดอาจถูกควบคุม โดยกลุ่มนักลงทุนชาวจีน เนื่องจาก ผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นผู้หาตลาดรับซื้อในประเทศปลายทาง 

ส่วน ผู้ประกอบการไทย ที่ยังดำเนินธุรกิจได้ คือ ผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ที่ธุรกิจแบบครบวงจร  ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยหลายราย ก็เริ่มปรับตัวไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนนายทุนต่างชาติเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น รัฐบาลควรเข้าไปดูแลเรื่องการทำตลาดสินค้าเกษตรเอง มากกว่าจะอาศัยผู้ประกอบการต่างชาติ เพื่อความยั่งยืน

Atth-Phisanwanich-2.jpg

4.ภาวะการขาดแคลนแรงงาน จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ปัจจุบันรัฐบาลไม่ค่อยเห็นความสำคัญ วันนี้ภาคเกษตรยังจัดการได้อยู่ แต่หากอนาคตโดยเฉพาะทุเรียนไทย ที่มีปริมาณมากขึ้น จะขาดแคลนแรงงาน คนเก็บ คนตัด ยกตัวอย่าง คนตัดทุเรียน เป็นอาชีพที่ต้องใช้ประสบการณ์และความสามารถ ประกอบกับที่ผ่านมา รัฐบาลไม่สร้างนวัตกรรม หรือ เครื่องมือในการลดต้นทุน หรือ ลดระยะเวลา ให้กับภาคเกษตร

โดยอนาคต คนตัดทุเรียน จะมีค่าตัวแพงมาก เพราะทุกคนต่างต้องการทักษะนี้ เมื่อผลผลิตออกมาพร้อมๆกัน และเกษตรกรตัดไม่ทันรอบผลผลิต ก็จะเกิดผลผลิตเสียหายในปีการผลผลิตนั้นๆ สูญมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงเสนอว่ารัฐบาล ควรเร่งวางแผนรอบด้านก่อนสายเกินแก้

ปี 67 ตลาด ‘ทุเรียน’ ต้องจับตา ‘เศรษฐกิจจีน’ และ ‘ภัยแล้ง’

ส่วนกำลังซื้อของตลาดทุเรียนไทยในจีนในปี 2567 รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช  ประเมินว่า ต้องจับตาสองปัจจัย คือสถานการณ์‘ภัยแล้ง’ ในประเทศไทยที่อาจจะทำให้ผลผลิตน้อยลง หรือ ผลผลิตเสียหาย และ ปัจจัยในฝั่ง ของประเทศจีน โดยมีประเมินออกมาว่าปี 2567 GDP ของ จีน จะเติบโตที่ 4.7% ซึ่งน้อยกว่าปี 2566 ที่โตราว 5 % เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต จึงอาจจะส่งผลกระทบมายังกำลังซื้อภาพรวมได้ ดังนั้น เกษตรกรไทย จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

dFQROr7oWzulq5Fa5BEhfqMbG77fFZ2jrwuBoWYFZRzY4ooMtAbT9StaY4eywlFdyPc.webp

ขณะที่ อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า แม้ทุเรียนไทยจะส่งออกไปยังในประเทศจีนมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี แต่ในขณะเดียวกันในมุมมองของคนจีนเองทุเรียนไทยกลับมีปัญหาเรื่องชื่อเสียงด้านคุณภาพ เพราะการส่งออกทุเรียนหมอนทอง ไปต่างประเทศ มีรูปแบบของการจำหน่ายครั้งละจำนวนมาก และเข้าถึงง่ายในประเทศจีน (Mass) ซึ่งความต้องการผลผลิตที่เยอะมากในจีน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการสกรีนคุณภาพผลผลิตตั้งแต่ต้นทาง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องคู่แข่ง เพราะตอนนี้ ประเทศจีนผู้ค้าอย่างจีน มีทางเลือกมากขึ้น หลังประเทศ เวียดนาม ลาว กัมพูชา รวมถึง ในประเทศจีนพื้นที่เกาะไหหลำ ทางตอนใต้ของจีน ก็เริ่มมีผลผลิตถึง 50,000 ตันในรอบการเพาะปลูกแรก สะท้อนว่าลูกค้าหลัก อย่าง จีน เริ่มลดการพึ่งพานำเข้า แถมมีทางเลือกมากขึ้นทั้งด้านราคาและคุณภาพ  ซึ่งหากภาคเกษตรของไทย ไม่เร่งวางแผนล่วงหน้า อาจจะทำให้ตลาดทุเรียนไทยน่าเป็นห่วง ดังนั้น ถือเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกันให้ ทุเรียนไทย ยังคงเป็น Top of Mind ในด้านคุณภาพสินค้าในตลาดจีนให้ได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์