TDRI เปิดตัวเว็บไซต์ data ข้อมูลอุบัติเหตุของไทย

11 เม.ย. 2566 - 03:43

  • แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 5 มุ่งเน้นการจัดการกับความเสี่ยง ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ผู้สูงอายุ และคนเดินเท้า

  • เป้าหมายปี 2570 อัตราผู้เสียชีวิตต้องลดลงเหลือ 12 คน ต่อแสนประชากร

Economy-Data-TDRI-Accident-Statistics-Road-SPACEBAR-Hero
ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิจัย TDRI เปิดตัวเว็บไซต์ data ข้อมูลอุบัติเหตุของไทย นำเสนอข้อมูลสถิติ เจ็บตาย บนท้องถนน พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก จากการสำรวจขององค์กรอนามัยโลก (ข้อมูลปี 2561) และได้มีความพยายามในการลดอุบัติเหตุด้วยมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งคือการตั้งเป้าหมายการลดอุบัติเหตุร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติ ประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนก่อนปี 2570 ที่จะถึงในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ 
 
ทีดีอาร์ไอร่วมติดตามประเมินผล และกำหนดตัวชี้วัดที่สะท้อนมาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนของไทย โดยสรุปข้อมูลภาพรวมยอดผู้เสียชีวิตสะสมทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2563-2565 รวมถึงแสดงข้อมูลประเมินผลตัวชี้วัดรายจังหวัดบนหน้าเว็บไซต์ ซึ่งมีที่มาจากการรวบรวมข้อมูลการบูรณาการจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาใช้วิเคราะห์เป้าหมายของแต่ละตัวชี้วัด เพื่อเป็นทิศทางให้กับองค์กรส่วนจังหวัดและภูมิภาคในการกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยบนท้องถนน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5RS3qRYWkD8a4qsUoUQjgh/511da1b5d655271fe4b6b91732e72c09/Economy-Data-TDRI-Accident-Statistics-Road-SPACEBAR-Photo01
ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลดลงในช่วงโควิด แต่ปีที่ผ่านมาเริ่มส่งสัญญาณตัวเลขเพิ่มมากขึ้น 
ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยค่อนข้างคงตัวในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ลดลงใน ช่วงปี 2563 – 2564 ที่เป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส 2019 อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 4 ปี 2565 มีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมใกล้เคียงกับปี 2564 ทั้งปี จำนวนผู้เสียชีวิตในภาพรวมจึงอาจกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และในจำนวนนี้มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากที่เสียชีวิตบนท้องถนน 
 
3 กลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนน 
แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 5 มุ่งเน้นการจัดการกับความเสี่ยง หรือภัยคุกคามสำคัญของประเทศอย่างจริงจัง เร่งด่วน ซึ่งครอบคลุมประเด็น ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง และกลุ่มผู้เดินทางที่มีความเปราะบางเป็นสำคัญ ตัวอย่าง 3 กลุ่มเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ผู้สูงอายุ และ คนเดินเท้า  
 
เป้าหมายปี 2570 อัตราผู้เสียชีวิตต้องลดลงเหลือ 12 คน ต่อแสนประชากร 
เป้าหมายการลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้เหลือเท่ากับ 12 คนต่อประชากรแสนคน หรือ 8,478 คน ในปี 2570 เป็นไปตามเป้าหมาย และตัวชี้วัดภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติ ประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล อีกทั้งเป็นเป้าหมายของแผนแม่บทด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2565-2570) กำหนดให้ปีตั้งต้นในการคำนวณเป้าหมายคือ ปี 2563 โดยวิเคราะห์จากระดับความรุนแรงของสถานการณ์อุบัติเหตุ และตั้งเป้าหมายให้ระหว่างปี 2566 – 2570 ต้องลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือเท่ากับ 12 คนต่อประชากรแสนคน อีกทั้งต้องมีการกระจายเป้าหมายไปสู่ระดับจังหวัดในอัตราที่แตกต่างกัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4LroP2SQBW2HtVTkpOtucD/79bfdb9649258da6199e31e3dcd2994a/Economy-Data-TDRI-Accident-Statistics-Road-SPACEBAR-Photo02
ปีตั้งต้น 2563 เป้าหมายอัตราผู้เสียชีวิตต้องไม่เกิน 27.2 คน ต่อแสนประชากร อัตราผู้เสียชีวิตจริง 27.2 คน ต่อแสนประชากร ยอดผู้เสียชีวิตสะสมรวมทั่วประเทศ 17,831 คน 
 
ปีเริ่มตั้งเป้า 2564 เป้าหมายอัตราผู้เสียชีวิตต้องไม่เกิน 25.0 คน ต่อแสนประชากรอัตราผู้เสียชีวิตจริง 25.9 คน ต่อแสนประชากร ยอดผู้เสียชีวิตสะสมรวมทั่วประเทศ 16,957 คน เป้าหมายผู้เสียชีวิตไม่เกิน 16,494 คน เกินเป้า 463 คน  
 
ปี 2565 เป้าหมายอัตราผู้เสียชีวิตต้องไม่เกิน  22.9 คน ต่อแสนประชากร อัตราผู้เสียชีวิตจริง 26.67 คน ต่อแสนประชากร ยอดผู้เสียชีวิตสะสมรวมทั่วประเทศ 17,379 คน เป้าหมายผู้เสียชีวิตไม่เกิน 15,158 คน เกินเป้า 2,221 คน 
 
ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่การลดอัตราการเสียชีวิต 
แต่ละจังหวัดมีเป้าหมายการลดอัตราผู้เสียชีวิตต่างกัน ตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ในจังหวัดนั้นๆ โดยประเมินจากอัตราการเสียชีวิตในปีตั้งต้นที่ 2563 และกำหนดให้ต้องมีอัตราที่ลดลงทุกปี เพื่อให้ค่าเฉลี่ยระดับประเทศบรรลุเป้าหมาย 12 คนต่อแสนประชากร ในปี 2570 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์