แจงยิบ การพิจารณาดีลรวบ AWN-3BB

15 พ.ย. 2566 - 04:20

  • การตัดสินใจครั้งนี้ ยืนยันว่าทำหน้าที่ในฐานะ กสทช.อย่างเต็มที่ที่สุด

  • พิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลที่สอดคล้องกัน

economy-awn-3bb-ais-nbtc-SPACEBAR-Hero.jpg

ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. โพสต์ข้อความในบัญชีเฟสบุ๊กส่วน Pirongrong Ramasoota โดยระบุว่า “บันทึกไว้เป็นข้อมูลและความทรงจำรวมธุรกิจ AIS-3BB” (จากการประชุมคณะกรรมการ กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 12/2566 ในวันศุกร์ที่ 10 พ.ย. 2566 ในวาระที่พิจารณา คือ การรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน))

โพสต์ช้า ส่วนหนึ่งเพราะมีการแถลงข่าว และใช้เวลาเกือบชั่วโมงในการตอบข้อซักถามของนักข่าวหลังประชุมเสร็จเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมาร่วมกับ กสทช.ที่ได้ลงมติร่วมกัน และได้ปรากฎเป็นข่าวไปกว้างขวางแล้ว และอีกส่วนก็เพราะความยุ่งเหยิงในชีวิตที่ทำให้ไม่มีเวลาเรียบเรียงข้อมูลให้เป็นระบบพอ

นอกจากนี้ เข้าใจว่า พรุ่งนี้ ทางบอร์ดอีก 3 ท่านจะมีการแถลงข่าว เพื่อตอบข้อกังวลของทางสภาองค์กรของผู้บริโภค และอธิบายถึงประโยชน์ที่ทางผู้บริโภคจะได้จากการรวมธุรกิจดังกล่าว 

เสียดายที่เราไม่ได้อยู่ร่วมด้วยในงานนี้ เพราะมาร่วมงานสัมมนาและประชุมร่วมกับองค์กรกำกับดูแลที่สวิตเซอร์แลนด์แต่เพื่อความชัดเจน ก็ขออนุญาตพูดถึงในบางประเด็นที่เกี่ยวข้อง ตามนี้ค่ะ 

1. ทำไมประชุมยาวเกือบเจ็ดชั่วโมง

การประชุมเริ่มต้นตั้งแต่เช้า 9 โมงมีการพักในช่วงกลางวัน เนื่องจากกรรมการและผู้บริหารของสำนักงาน กสทช. ต้องไปเข้าร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ที่วัดยานนาวา ซึ่งเป็นนัดที่มีมาก่อนหน้า แล้วส่วนหนึ่งได้กลับมาประชุมกันต่อถึงสองทุ่มเศษ 

เนื่องจากเป็นการประชุมกรรมการแบบองค์คณะ คือ มีทั้งกรรมการ กสทช.และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช.ที่เกี่ยวข้องอีกคณะใหญ่ รายละเอียดที่ต้องอภิปรายมีเยอะมาก แถมขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องทำอย่างรอบคอบ และกรรมการก็มีการตีความที่ไม่ตรงกันด้วย เลยใช้เวลาอภิปรายกันเยอะหน่อยกว่าจะลงมติได้ ต้องขอโทษน้อง ๆ นักข่าวที่มารอกันจนถึงค่ำด้วยค่ะ นับถือนักข่าวสายนี้จริง ๆ อดทนมาก ๆ

2. ทำไมบอร์ดเสียงข้างมากจึงพิจารณาว่า กสทช.มีอำนาจอนุญาต/ไม่อนุญาต แทนที่จะเพียงรับทราบ การรวมธุรกิจครั้งนี้

บริษัท AWN และบริษัท TTTBB เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยเป็นผู้ให้บริการที่แข่งขันกันในตลาดโทรคมนาคมเดียวกัน ได้แก่ 1) ตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์ประจำที่ภายในประเทศ 2) ตลาดค้าปลีกบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ 3) ตลาดค้าส่งบริการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อให้เรียกถึงจุดปลายทางบนโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ และ 4) ตลาดค้าส่งบริการเข้าถึงบรอดแบนด์ ดังนั้น เมื่อ AWN เข้าซื้อหุ้นของ TTTBB จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด จำนวนร้อยละ 99.87 จึงเป็นการรวมธุรกิจตามนิยามของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 (ประกาศปี 2561) 

ดังนั้น จึงต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการดำเนินการ ตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง ของประกาศปี 2561 โดยไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 5 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประกาศปี 2561 โดยข้อ 9 ของประกาศปี 2561 ให้ถือว่าการรายงานการรวมธุรกิจตามประกาศปี 2561 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2549 (ประกาศปี 2549)

เมื่อ "ผู้ขอรวมธุรกิจทั้งสองรายถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันโดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น" จึงถือว่าครบองค์ประกอบของข้อ 8ประกาศปี 2549 ที่กำหนดให้การกระทำดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. โดยมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่ กสทช. เพื่อขออนุญาต และกรณีที่ กสทช. พิจารณาว่าการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม กสทช. อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะก็ได้ (ตามข้อ 8 ของประกาศปี 2549) 

ที่ประชุม กสทช. มีมติเสียงข้างมาก(5:2) เห็นว่าเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน จึงเห็นว่า กสทช.มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ โดยเสียงข้างน้อยเห็นว่า กสทช.มีอำนาจเพียงรับทราบการรายงานการรวมธุรกิจ

3. เกณฑ์และขั้นตอนในการพิจารณาเป็นอย่างไร

หลังจาก กสทช. มีมติเสียงข้างมากในประเด็นอำนาจในการพิจารณา (ระบบอนุญาต vs.ระบบรับทราบ) ไปแล้ว ทางที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาว่าข้อเสนอการควบรวมในครั้งนี้มีลักษณะผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน หรือไม่

โดยใช้หลักเกณฑ์ (ตามข้อ 5 ของประกาศปี 2549) ดังนี้ 

1. กำหนดตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยการใช้หลักเศรษฐศาสตร์ในการพิจารณาโดยนำหลักเกณฑ์ทดสอบผู้มีอำนาจผูกขาดโดยสมมติ (Hypotehtical Monopolist Test) มาใช้ 

2. พิจารณาโครงสร้างตลาดและระดับการแข่งขันที่เกี่ยวข้อง

3. พิจารณาผลกระทบของการกระทำหรือพฤติกรรมของผู้รับใบอนุญาตที่มีต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง

4. พิจารณาผลกระทบของการกระทำหรือพฤติกรรมของผู้รับใบอนุญาตที่มีต่อการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่

5. พิจารณาผลกระทบของการกระทำหรือพฤติกรรมของผู้รับใบอนุญาตที่มีต่อผู้ใช้บริการ รวมทั้งการให้บริการและอัตราค่าบริการ

6. พิจารณาปัจจัยอื่นหรือเงื่อนไขอื่นตามหลักกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ การคุ้มครองผู้ใช้บริการ และการแข่งขันในตลาดเป็นหลัก

ซึ่งทีมงานจากสำนักงาน กสทช. ก็ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ในประเด็นดังกล่าวอย่างละเอียด โดยมีข้อมูลหลัก ๆ จากรายงานการศึกษา 3 แหล่งคือ คณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของสำนักงาน กสทช., ที่ปรึกษาในประเทศ (สถาบันวิจัยฯ มธ.) และที่ปรึกษาต่างประเทศ (SCF Associates Ltd.) ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันชื่อดังในยุโรปหลายแห่ง และยังเป็นกลุ่มเดียวกับที่ทำการศึกษาให้ในการควบรวมครั้งก่อนด้วย

หลังจากได้เห็นภาพของโครงสร้างตลาด ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมแล้ว (จะพูดถึงโดยละเอียดในข้อต่อไป) ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นข้อกังวล (points of concern) ต่าง ๆจากการรวมธุรกิจ ก่อนจะพิจารณาเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะทั้งของสำนักงาน กสทช. และที่ กสทช. แต่ละท่านเสนอโดยละเอียดก่อนการพิจารณาลงมติ

การพิจารณามาตรการเฉพาะก่อนลงมติก็เพื่อประเมินให้แน่ใจว่า หากอนุญาตให้ควบรวมได้ มาตรการเฉพาะจะต้องมีเพียงพอสำหรับป้องกันไม่ให้นำไปสู่การผูกขาด หรือการลดหรือจำกัดการแข่งขันจนเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ

หลังประเมินมาตรการเฉพาะเรียบร้อยแล้ว กรรมการเสียงข้างมากมีความเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวไม่ส่งผลถึงขั้นของการผูกขาด แต่อาจส่งผลให้เกิดการลดการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง ทว่าน่าจะเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้มาตรการเฉพาะที่ได้พิจารณาร่วมกันไป และมาตรการยังสามารถส่งต่อผลดีจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจากการควบรวมต่อไปให้ประชาชนและเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้ด้วย จึงได้มีมติด้วยเสียงข้างมากอนุญาตให้รวมธุรกิจแบบมีเงื่อนไข โดยผู้รวมธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะอย่างเคร่งครัด เช่น มาตรการด้านราคา การคุ้มครองผู้บริโภค การให้หลักประกันการเข้าถึงโครงข่ายสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่มีโครงข่ายของตนเอง มาตรการความครอบคลุมของโครงข่าย เป็นต้น

4. เหตุผลที่อนุญาตให้รวมธุรกิจได้แบบมีเงื่อนไข มีเหตุผลสนับสนุน 4 ข้อหลักดังต่อไปนี้

4.1 มีผู้ให้บริการรายที่สามที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด

แม้ AWN เข้าซื้อหุ้น TTTBB จะทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ในตลาดลดลงจาก 4 รายใหญ่ เหลือ 3 รายใหญ่ โดย AWN (+TTTBB), TICC และ NT มีส่วนแบ่งตลาดเป็นร้อยละ 44.44, 37.47 และ 15.44 ตามลำดับ แต่จะเห็นได้ว่า NT ยังเป็นผู้ให้บริการที่สำคัญในตลาดที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นลำดับที่สามที่ยังสามารถสร้างแรงกดดันในการแข่งขันได้ เพราะหากเกิดกรณีที่สองรายใหญ่ร่วมมือกันขึ้นค่าบริการ ผู้บริโภคอาจหันไปซื้อบริการจาก NT ซึ่งโดยสภาพที่เป็นรัฐวิสาหกิจจีงมีความเป็นไปได้น้อยที่ NT จะไปร่วมมือกับเอกชน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากรายงานของสำนักงานกสทช.ด้วยว่า ในเชิงการครอบคลุมทางภูมิศาสตร์ของอินเทอร์เน็ตประจำที่ NT มีโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ

ซึ่งสภาพการณ์นี้แตกต่างจากการรวมธุรกิจของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลดลงจาก 3 รายใหญ่เหลือ 2 รายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 49.40 และ 47.72 ตามลำดับ ขณะที่รายที่ 3 มีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก คือ ไม่เกินร้อยละ 3 จึงไม่ใช่คู่แข่งในตลาด ประกอบกับตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ยาก

4.2 มีบริการอื่นทดแทนบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ได้

แม้การรวมธุรกิจจะส่งผลต่อราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ แต่จากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของสำนักงาน กสทช., ที่ปรึกษาในประเทศ (สถาบันวิจัยฯ มธ.) และที่ปรึกษาต่างประเทศ (SCF Associates Ltd.) มีความเห็นสอดคล้องกันว่าบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่สามารถทดแทนได้ด้วยบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่

ยกตัวอย่างเช่น อินเทอร์เน็ตบ้านเสีย เราสามารถใช้ mobile data ทดแทนการสื่อสารได้ แต่ในทางกลับกันบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ไม่สามารถทดแทนบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ยังคงมีทางเลือกอื่นทดแทน ซึ่งแตกต่างจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เน้นความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงบริการ จึงหาบริการอื่นทดแทนยากกว่าดังที่กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้ทาง SCF Associates ยังระบุถึงการมีเน็ตประชารัฐ และUSO Net (ศูนย์ที่ กสทช. จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม: Universal Service Obligation) เกือบ 50,000 จุดทั่วประเทศ ว่าเป็นโครงข่ายเสริมที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อสาธารณะในพื้นที่ห่างไกลได้ด้วย

4.3 มีผลกระทบในวงจำกัด

ขนาดของผลกระทบของการรวมธุรกิจครั้งนี้อยู่ในวงจำกัดทั้งด้านผู้ใช้บริการและด้านพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ประมาณ 13 ล้านราย ซึ่งน้อยกว่าจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 129 ล้านเลขหมายมาก (ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 พ.ศ.2565)

ขณะเดียวกัน ตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ เป็นตลาดที่มีระดับการแข่งขันแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ จึงขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ให้บริการในแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งมีการประเมินเบื้องต้นโดยสำนักงานกสทช. จากข้อมูลระดับพื้นที่ตามรหัสไปรษณีย์พบว่า มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่แข่งขันกันในแต่ละพื้นที่ภูมิศาสตร์เกือบทั่วทั้งประเทศ แสดงถึงการครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่เกือบทั่วประเทศ โดยมีพื้นที่ห่างไกลเพียงเล็กน้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ 

จากข้อมูลชุดเดียวกัน ยังพบด้วยว่า มีพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ที่มีการแข่งขันระหว่าง AWN และ TTTBB ส่วน TICC และ NT ก็มีโครงข่ายครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ

ซึ่งแตกต่างจากการรวมธุรกิจของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการผ่านคลื่นความถี่โดยส่งสัญญาณได้ครอบคลุมทั่วประเทศ เมื่อการแข่งขันลดลง และหากมีพฤติกรรมที่เอาเปรียบผู้บริโภคทางด้านราคาหรือคุณภาพของสัญญาณแล้ว จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในวงกว้างทั่วประเทศ

4.4 ผลกระทบทางบวกจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น

การรวมธุรกิจจะนำไปสู่ภาวะที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพราะไม่ต้องลงทุนวางโครงข่ายซ้ำซ้อน ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด (economy of scale) จึงสามารถนำต้นทุนที่ประหยัดได้ไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ฯ, การศึกษาของที่ปรึกษาในประเทศ และการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมดว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นต่อตลาด โดย SCF Associates Ltd. ได้ประเมินผลกระทบสุทธิเป็นบวก และแนะนำให้อนุญาตให้การควบรวมเกิดขึ้นแต่ต้องกำกับดูแลด้วยมาตรการเฉพาะ

5. มาตรการเฉพาะที่ช่วยลดผลกระทบจากการรวมธุรกิจ ประกอบด้วยมาตรการด้านต่าง ๆ ตามที่ได้ระบุไปข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่ออกแบบโดยกรรมการกสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะขออนุญาตหยิบยกบางส่วนมานำเสนอในที่นี้ เช่น 

5.1 ห้ามผู้รวมธุรกิจขึ้นราคาหรือลดคุณภาพบริการ และให้คงแพ็คเกจราคาต่ำสุดสำหรับบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่แบบที่มีในปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปี เสมือนเป็นการคงราคาค่าบริการในช่วงที่มีการแข่งขันของผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 4 รายก่อนการรวมธุรกิจไว้ ซึ่งจับต้องได้และตรวจสอบการปฏิบัติตามได้ง่ายกว่ามาตรการด้านราคาที่เคยกำหนดไว้ในการรวมธุรกิจคราวที่แล้ว ที่กำหนดให้ลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลงร้อยละ12 โดยวิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้ในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย (weighted average)

5.2 ผู้รวมธุรกิจต้องแสดงค่าบริการแยกตามรายบริการ (unbundle) หรือรายการส่งเสริมการขายแบบแยกรายบริการ เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อบริการตามความต้องการ

5.3 ผู้รวมธุรกิจต้องนำเงินที่ประหยัดได้ไปลงทุนขยายการเข้าถึงโครงข่ายบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ในพื้นที่ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำหรือพื้นที่ห่างไกล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล จำนวนอย่างต่ำ 10,000 ล้านบาทใน 5 ปีหลังการควบรวม โดยต้องจัดทำแผนขยายโครงข่ายให้ กสทช.เห็นชอบก่อน

5.4 ผู้รวมธุรกิจต้องไม่ปฏิเสธการขอใช้โครงข่ายของผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามาให้บริการในบางพื้นที่ได้

5.5 ผู้รวมธุรกิจต้องเปิดตลาดการค้าส่งบริการบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่แบบแยกรายบริการ (Fixed broadband Service Unbundling) ให้แก่ผู้ที่ร้องขอภายใน60 วัน

5.6 ผู้รวมธุรกิจต้องไม่กำหนดปริมาณและราคาขั้นต่ำของการเช่าซื้อบริการโครงข่ายของผู้รับใบอนุญาตฯ ที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง และต้องเรียกเก็บค่าบริการตามที่ใช้งานจริง

ในส่วนของสำนักงาน กสทช. เราได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ merger monitor เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการขึ้นราคาจากผู้รวมธุรกิจเป็นเวลา 5 ปี โดยมีส่วนร่วมจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และองค์กรวิชาชีพด้านโทรคมนาคม ซึ่งมาตรการนี้มาจากการถอดบทเรียนจากการรวมธุรกิจในครั้งที่แล้วว่า เราขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม จึงควรเสริมแรงให้การตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดหลังการรวมธุรกิจเข้มแข็งมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ทางสำนักงาน กสทช. ต้องหาแนวทางพัฒนาระบบให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบคุณภาพของบริการอินเทอร์เน็ตได้ด้วยตนเอง (ข้อนี้เป็นข้อเสนอของเราที่อยากจะ empower ผู้บริโภคให้สามารถมีบทบาทโดยตรงในการตรวจสอบว่าบริการที่ได้รับตรงกับที่ตกลงกับทางผู้ให้บริการหรือไม่)

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้เสนอให้ทาง กสทช.มีการปรับปรุงและพัฒนาประกาศ (กฎหมายลำดับรองของกสทช.) เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลกิจการที่มีการรวมธุรกิจและกิจการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจได้ดียิ่งขี้น เช่น ประกาศเกี่ยวกับความเป็นกลางทางโครงข่าย (Net Neutrality) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการอื่นในการเข้าถึงโครงข่ายด้วยความเร็วหรือภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกัน

ในการตัดสินใจครั้งนี้ ขอยืนยันว่าได้พยายามทำหน้าที่ในฐานะ กสทช.อย่างเต็มที่ที่สุด บนพื้นฐานของข้อมูลที่สอดคล้องกันจากรายงานการศึกษาที่กล่าวถึงไปแล้วทั้ง 3 ฉบับและยังมีรายงานของ 101 PUB ซึ่งเป็น Public Policy Think Tank มาประกอบด้วยเพื่อระบุประเด็นที่เป็นข้อกังวลให้ครอบคลุมที่สุด

ในทุกขั้นตอนของการพิจารณา ได้ทำหน้าที่ตามอำนาจที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยอาศัยหลักการทางนโยบายและการกำกับดูแลที่ดี หลักฐานเชิงประจักษ์ และข้อมูลทางวิชาการ เพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของประชาชน ของอุตสาหกรรม และของประเทศชาติ 

แต่ผลของการลงมติก็คงจะไม่เป็นที่พอใจของทุกคน เราก็ต้องขอน้อมรับคำวิจารณ์และขอบคุณสำหรับคำแนะนำใด ๆ ทั้งนี้ พวกเราจะพยายามตอบกลับข้อกังวลต่าง ๆ และหาทางแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะผ่านกลไกการบังคับใช้มาตรการเฉพาะให้มีประสิทธิภาพให้ผลประโยชน์ส่งต่อไปถึงสาธารณะให้ได้มากที่สุด

ต้องขอบคุณกรรมการ กสทช.ทุกท่านที่ร่วมประชุมตั้งแต่เช้าและอยู่ด้วยกันจนแถลงข่าวเสร็จเมื่อใกล้สามทุ่ม ทุกท่านในที่นั้นได้ทำงานต่อเนื่องในการศึกษาข้อมูลจากการศึกษาต่างๆ และหาแนวทางในการพัฒนามาตรการเฉพาะที่ไม่เพียงช่วยป้องกันการผูกขาด และคุ้มครองผู้บริโภค แต่ยังสามารถส่งต่อประโยชน์จากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น กลับสู่สังคมด้วย 

พวกเราประชุมหารือกันมาเป็นเดือนและเข้มข้นมากขึ้นในช่วงสัปดาห์หลัง ๆ จนวันประชุมจริง กว่าจะเสร็จก็ทรุดโทรมกันไปถ้วนหน้า อย่างที่น้อง ๆ นักข่าวน่าจะสังเกตเห็นได้ ดีใจและภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับทุกท่านที่มีความเป็น professionalและทำงานหนักมากทุกคน เชื่อมั่นว่าทุกท่านไม่มีวัน “ทรยศวิชาชีพ” ตนเอง อย่างที่อาจารย์ศุภัชเคยบอกไว้เมื่อปีก่อนจริง ๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์