เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เกิดปรากฏการณ์ประหลาด เมื่อท้องฟ้าเหนือวังบางขุนพรหมที่เคยสว่างสดใสมาเป็นเวลานานเกือบ 1 ทศวรรษ ถูกเมฆดำครึ้มเข้ามาปกคลุม ส่อเค้าลางว่ากำลังจะมีพายุใหญ่ที่อาจจะซัดกระหน่ำ เหนือ ‘ตำหนักใหญ่’ ที่มีอายุกว่า 117 ปีแห่งนี้ หลังการกลับมาครองอำนาจของพรรคเพื่อไทยใหม่อีกครั้งในรอบ 10 ปี
แต่ยังไม่ทันที่ ผู้คนในวังบางขุนพรหม จะเตรียมปิดประตูหน้าต่างเพื่อกันฝนฟ้าที่จะซัดกระหน่ำลงมา ลมพายุฝนระลอกแรกก็กระโชกซัดเข้าทางเหนือของตัวตึกแบบไม่ทันตั้งตัว ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีการปล่อยข่าวลือในตลาดเงิน-ตลาดทุน
‘วงใน ลือหึ่ง !!! รมต.คลัง จะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ขัดนโยบาย ทำงานร่วมกันไม่ได้อย่างแรง ปลดแม่งซะเลย’
ข่าวลือดังกล่าวไม่เพียงสร้างความสั่นไหวให้กับผู้คนในวังบางขุนพรหม แต่ยังสร้างความสั่นสะเทือนให้กับ ตลาดเงิน-ตลาดทุน อย่างคาดไม่ถึง เห็นได้ชัดจากดัชนีตลาดหุ้นในวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ทรุดลงถึง 15.06 จุด หรือเกือบ 1% ในขณะที่มีเงินทุนไหลออก ฉุดให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงไปอยู่ที่ประมาณดอลลาร์ละ 36.02 บาท
ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่มีการผลัดเปลี่ยนครั้งใหญ่ หลังการก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ของเศรษฐา ทวีสิน ที่ประกาศเดิมพันชนิด ‘เทหมดหน้าตัก’ โดยการเร่งเดินหน้า
บรรดานโยบายต่าง ๆ ที่ประกาศไว้เมื่อตอนหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นการเร่งแก้ปัญหาปากท้อง ลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน รวมทั้งการอัดฉีดมาตรการประชานิยม อย่างเรื่อง‘เงินดิจิทัลหมื่นบาท’ และการประกาศมาตรการพักหนี้ทั้งเกษตรกร และ ธุรกิจ SME เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้เห็นผลทันตา และดัน GDP ให้โตไม่ต่ำกว่า 5%
การเดินเกมรุกแรงและเร็ว ของนายกฯ เศรษฐา และพรรคเพื่อไทยในคราวนี้ ต้องยอมรับว่า มันคือการเดิมพันครั้งสำคัญเพื่อดึง ‘เรตติ้ง’ ของพรรคที่กำลังดิ่งเหว หลังจากที่สลัดรักก้าวไกล และหันมาจูบปากกับขั้วอำนาจเก่าในการจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรคให้กลับคืนมา จึงไม่น่าประหลาดใจหาก นายกฯ เศรษฐา จะใช้พลังอำนาจทุกอย่างที่มีอย่างไม่ลังเล เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ในสายตาของ นายกฯ เศรษฐา เขาเชื่อว่ากว่า 9 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยโตต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง และมั่นใจว่าจะสามารถปลุกเศรษฐกิจของไทยจากสภาพที่นอน ‘หยอดน้ำข้าวต้ม’ ให้ลุกกลับมา ‘วิ่ง’ ได้อีกครั้ง โดยการกระตุกด้วยเม็ดเงินอัดฉีดจำนวนมหาศาลถึงกว่า 5.6 แสนล้านบาท ให้กับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป เพื่อให้จับจ่ายใช้สอย เพื่อทำให้เกิดสิ่งที่ นายกฯ เศรษฐาเรียกว่า ‘พายุหมุน’ ทางเศรษฐกิจ
ยิ่งไปกว่านั้น เขายังประกาศนโยบายการพักหนี้ให้กับ กลุ่มเกษตรกร และธุรกิจ SME เพื่อช่วยลดภาระให้กับกลุ่มฐานราก
คนที่รู้จัก นายกฯ เศรษฐาดี จะรู้ว่าสไตล์การทำงานของเศรษฐา ที่ติดตัวมาตั้งแต่เป็นบอสใหญ่ ของ แสนศิริ คือ เป็นคนคิดเร็วทำเร็ว และต้องการผลลัพธ์ทันที เห็นได้ชัดจากทันทีที่รับตำแหน่ง เขาก็เดินหน้าทำงาน ชนิดแทบไม่หยุดไม่หย่อน ถึงขนาดปรารภว่า อาจจะนอนค้างคืนที่ทำเนียบ เพื่อให้งานเดินไปได้อย่างรวดเร็ว
หากโจทย์ของทำเนียบรัฐบาล ทั้งแนวคิดและเป้าหมายในการดำเนินนโยบาย เป็นในทิศทางเดียวกับแนวคิด และแนวทางในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ของสำนักเศรษฐศาสตร์จากบางขุนพรหม ทุกอย่างก็คงจะดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ในความเป็นจริง ทุกอย่างมันดูจะสวนทางกันเกือบจะสิ้นเชิง จึงทำให้การเดินหน้าในนโยบายหลาย ๆ เรื่องเริ่มส่อแววว่าอาจจะมีอาการสะดุด
อาการไม่ลงรอยกันในแนวคิดที่เห็นต่างเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มสร้างแรงสั่นสะเทือน และความหวั่นใจให้กับคนในแบงก์ชาติ และนำไปสู่ข่าวลือว่าอาจจะกระทบไปถึง ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธินาถนฤพุฒิ หากความขัดแย้งนำไปถึงจุดแตกหัก
ความจริงเค้าลางของปัญหา มีมาตั้งแต่ช่วงที่บรรดาพรรคการเมืองเริ่มรณรงค์หาเสียง ที่หลาย ๆ พรรคการเมืองรวมทั้งพรรคเพื่อไทย ต่างก็ชูนโยบายประชานิยมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้กับแบงก์ชาติอยู่แล้ว
ที่ผ่านมา นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ แบงก์ชาติ ค่อนข้างจะสอดประสานและไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งฝั่งนโยบายการเงินและการคลัง คือ พยายามที่จะประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ค่อยฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และใช้นโยบายการเงินตึงตัว อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างช้า ๆ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาที่มุ่งไปยังกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแบบเฉพาะกลุ่ม เช่น การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่วนนโยบายด้านการคลัง รัฐบาลก็ค่อย ๆ ลดการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบหว่านแห ในช่วงวิกฤติโควิด -19 และหันมามุ่งช่วยเข้าไปที่กลุ่มเฉพาะที่เปราะบางมากกว่า
ในมุมมองของแบงก์ชาติ โจทย์ของการดำเนินนโยบายด้านการเงินที่สำคัญ คือ การทำให้นโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ Normalization Policy และแสดงท่าทีชัดเจนว่า เป็นห่วงเรื่องของเสถียรภาพฝ่ายการคลัง
ในการนั่งหัวโต๊ะประชุม 4 หน่วยงาน เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ ของนายกฯ เศรษฐา เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ก่อนบินไปประชุม UNGA 78 ที่นิวยอร์ค สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการพบกันเป็นครั้งแรก ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดย นายกฯกล่าวว่า มีการรับฟัง ‘ข้อกังวลและข้อควรระมัดระวัง’ จากผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ในหลาย ๆ ประเด็น ที่ยืนยันจุดยืนของแบงก์ชาติ
เสถียรภาพในฝั่งการคลัง ดูจะเป็นประเด็นที่แบงก์ชาติกังวลเป็นพิเศษ เพราะหากใช้นโยบายการคลังในลักษณะอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ อาจจะส่งผลกระทบไปถึงมุมมองเชิงลบของบรรดาสถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้งที่อาจจะดาวน์เกรด เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ เพิ่งโดนปรับอันดับลงเมื่อเร็ว ๆ นี้
ประเด็นเรื่องการแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทของรัฐบาล แบงก์ชาติก็ดูจะอยากให้ทำแบบมุ่งเป้า หรือ Targeting มากกว่า และยังมีมุมมองที่อยากเห็นรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการลงทุนมากกว่าที่จะไปเน้นเรื่องของการกระตุ้นการบริโภค
ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ถึงขนาดชี้ให้เห็นว่า เวลานี้ตลาดเงินมีการคาดการณ์ว่า รัฐบาลอาจจำเป็นต้องกู้เงินเป็นจำนวนมาก เพื่อมาใช้ในโครงการนี้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อตลาดพันธบัตร เห็นได้ชัดจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ที่เพิ่มขึ้นทะลุระดับ 3% เนื่องจากคาดว่า รัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องกู้เงินมากขึ้น
แบงก์ชาติดูจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายซื้อใจประชาชนแบบ ‘เหวี่ยงแห’ เช่นเดียวกันกับ นโยบายพักหนี้เกษตร และ SME ทั้งต้นและดอกเบี้ย ที่ไม่ควรทำเป็นวงกว้างในช่วงเวลานี้ แต่ควรโฟกัส หรือมุ่งช่วยเฉพาะกลุ่มมากกว่า เพื่อไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Moral Hazard กับคนเป็นหนี้
หากเหลียวหลังไปดูประวัติศาสตร์กว่า 80 ปีที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กับฝ่ายการเมือง หรือรัฐบาลและกระทรวงการคลัง เคยเกิดขึ้นหลายครั้งและ ฉากจบสุดท้ายมักจะจบแบบไม่สวยงาม คือ รัฐบาลมักใช้อำนาจสั่ง ‘ปลด’ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ หรือบางครั้งก็จะกดดันจนต้อง ‘ลาออก’
คล้อยหลังไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา สงครามความขัดแย้งล่าสุดระหว่างแบงก์ชาติ กับฝ่ายการเมือง ก็เพิ่งเกิดขึ้นในยุค นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พรรคเพื่อไทยขึ้นมาครองอำนาจฝ่ายการเมือง และเกิดความขัดแย้งกันระหว่าง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลังในขณะนั้น กับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ถึงขนาด นายกิตติรัตน์ เคยระบายความในใจว่า คิด จะปลดผู้ว่าฯ ประสารออกทุกวัน เพราะไม่สนองนโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ปลดไม่สำเร็จ เพราะเกิดการปฎิวัติเสียก่อนในปี 2557
ที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้การกลับมาครองอำนาจฝ่ายการเมืองใหม่อีกครั้งในรอบทศวรรษของ พรรคเพื่อไทยคราวนี้ จะมีนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แต่เบื้องหลังก็ยังมี กิตติรัตน์ ณ ระนอง ยืนอยู่ข้างกายในฐานะ ประธานที่ปรึกษา
เพราะเหตุนี้จึงทำให้กระแสข่าวลือ เรื่องอาจมีการปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ หากมีจุดต่างทางความคิดมากจนเกินกว่าจะหา จุดร่วม ในการดำเนินนโนยายการเงิน การคลังให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันได้
อย่างไรก็ตาม หากไปเจาะลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ กับ ผู้ว่าฯ ‘นก’ เศรษฐพุฒิ
ก็จะพบว่า ทั้งสองคนเคยทำงานร่วมกันมาในยุคที่กิตติรัตน์ นั่งในตำแหน่ง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2544-2549
กิตติรัตน์ เป็นคนที่ดึง ผู้ว่าฯ นก หลังจากออกจาธนาคารโลก มานั่งในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์ในปี 2548
คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า เดิมพันครั้งสำคัญครั้งนี้ของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา จะประสบความสำเร็จหรือไม่ และปัจจัยชี้ขาดอาจจะขึ้นอยู่กับบทบาทของกิตติรัตน์ ว่าจะมีบทบาทอย่างไร ในสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้ง และมีจุดต่างในแนวคิดของการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง ระหว่างรัฐบาล และแบงก์ชาติในคราวนี้
