มาตรฐานยูโร 5 เริ่มแล้ว ผู้ผลิต 25 รายยื่นตรวจประเมิน

1 มกราคม 2567 - 08:34

economy-car-euro5-auto-vehicles-oil-dust-SPACEBAR-Hero.jpg
  • มาตรฐานยูโร 5 เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม หลังจากที่เลื่อนมาจากโควิด19

  • ผู้ผลิตรถยนต์และจำหน่ายรถ 25 รายยื่นขอตรวจประเมินตามาตรฐานไอเสีย

  • ส่วนผู้จำหน่ายน้ำมันปรับปรุงน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 รอตั้งแต่ปลายปี 2566

เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) วันชัย พนมชัย กล่าวว่า สมอ.ได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาตตามมาตรฐานยูโร 5 โดยเปิดรับให้ยื่นคำขอตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพของโรงงาน และคำขอรับบริการทดสอบผลิตภัณฑ์รถยนต์ ผ่านระบบ อี-ไลเซนส์ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์เฉพาะในการตรวจสอบเพื่อการอนุญาตสำหรับมาตรฐานยูโร 5 โดย สมอ. ยอมรับผลทดสอบให้สามารถนำมาใช้ในการขอการรับรองมาตรฐานได้

การเปิดรับคำขอผ่านระบบ E-license ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 จนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2566 มีผู้ประกอบการมายื่นขอรับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 25 ราย เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด  โดยสมอ. พร้อมออกใบอนุญาตสำหรับรถยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 ตามกำหนดบังคับใช้

สำหรับมาตรฐานยูโร 5 จะควบคุมปริมาณไอเสียของการปล่อยฝุ่นละอองจากเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก โดยรถยนต์ดีเซลทุกคันต้องติดตั้งตัวกรองฝุ่นละออง และเป็นครั้งแรกที่มีการจำกัดปริมาณฝุ่นละอองสำหรับเครื่องยนต์เบนซินที่เป็นแบบจุดระเบิดโดยตรง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและการช่วยลดการปล่อยมลพิษในอากาศ และการช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

หลังจากนี้ จะมีการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 กับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน กำหนดเวลาวันที่ 1 มกราคม 2568 ส่วนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 กับรถประเภทอื่นอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้

ทางด้านผู้จำหน่ายน้ำมัน ก็ได้ปรับคุณภาพน้ำมันให้อยู่ในมาตรฐาน ยูโร 5 ด้วยเช่นกัน  ซึ่งผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ต่างมีน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ออกมาจำหน่ายตั่งแต่ปลายปี 2566  เพื่อเตรียมรับมาตรฐานใหม่ และล่าสุดโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชาของบริษัทบางจาก ได้เริ่มผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงกำมะถันต่ำตามมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566  

บริษัทบางจาก ระบุว่า น้ำมันเบนซินจะมีการปรับลดปริมาณกำมะถันต่ำกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน (10 ppm) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศลดลง ขณะที่น้ำมันดีเซลจะมีการปรับลดปริมาณกำมะถันต่ำกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน (10 ppm) และปรับปรุงคุณภาพ ทำให้ช่วยลดการระบายก๊าซไฮโดรคาร์บอนและออกไซด์ของไนโตรเจน ลดเขม่าจากการเผาไหม้ที่เกิดจากเครื่องยนต์สันดาป ลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์