สินเชื่อ ‘รถแลกเงิน’ พุ่ง จ่ายดอกแพงแก้กระเป๋าแบน

4 มี.ค. 2567 - 10:52

  • สภาพัฒน์ ฯ ระบุการก่อหนี้ภาคครัวเรือนไทยพุ่งสูง

  • สินเชื่อ รถแลกเงิน มาแรงสุด แม้ว่าจ่ายดอกเบี้ยแพง

  • สะท้อนการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง

Economy-Car-for-money-loans-soar-   Paying-high-interest-to-fix-a-flat-wallet-SPACEBAR-Hero.jpg

เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ดนุชา พิชยนันท์  ระบุว่า ครัวเรือนไทยยังก่อหนี้เพิ่มในทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะยอดสินเชื่อรถแลกเงินพุ่ง 40.2% ในไตรมาส 3 ปี 2566 สะท้อนครัวเรือนขาดสภาพคล่อง ‘รุนแรง’ แม้ดอกเบี้ยสูงลิบก็ยอมเสีย

ตัวเลขอัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 (ข้อมูลล่าสุด) เพิ่มขึ้น 3.3% จากปีก่อน แต่ชะลอตัวจาก 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ปล่อยสินเชื่อยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การก่อสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต) ยังเพิ่มขึ้นถึง 5.4%

โดยการก่อที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้หนี้สินครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แตะระดับ 16.20 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.9% ต่อ GDP

ในรายงานยังชี้ให้เห็นว่า โดยภาพรวมสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับขยายตัวสูงถึง 15.6% ขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (หรือสินเชื่อรถแลกเงิน) ในไตรมาส 3 ปี 2566 ขยายตัวสูงถึง 40.2%

สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่อนุมัติเร็วและง่าย แต่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น และมีแนวโน้มจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการกู้ยืมเพื่อเติมสภาพคล่อง

ขณะเดียวกัน หนี้เสียของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมสูง 4.0% เพิ่มขึ้นจากปลายปี 2564 ที่มีสัดส่วนเพียง 2.4%

ในรายงานสภาพัฒน์ฯยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า คุณภาพสินเชื่อ ‘ด้อยลง’ ในทุกประเภทสินเชื่อ สะท้อนว่าครัวเรือนบางกลุ่มยังเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่อง

เมื่อพิจารณาตามประเภทสินเชื่อพบว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบัตรเครดิตมีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม 3.24% และ 3.34% ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสินเชื่อยานยนต์ที่สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 2.05% ของไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 2.10%

ขณะที่ยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท ขยายตัว 7.9% จาก 2.7% ในไตรมาสก่อน

แม้ว่าภาพรวมสัดส่วนการค้างชำระ 1-3 เดือน (SMLs) ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวอยู่ที่ 6.7% อย่างไรก็ตาม หนี้ SMLs ของสินเชื่อยานยนต์ยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ซึ่งสถานการณ์คุณภาพหนี้ยานยนต์ข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลสถิติการยึดรถยนต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 25,000-30,000 คันต่อเดือน จากปี 2565 ที่อยู่ที่ประมาณ 20,000 คันต่อเดือน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์