เสื้อผ้าถูกจากจีน ทำโรงงานไทยเจ๊ง

9 ก.พ. 2567 - 00:34

  • เสื้อผ้าถูกจากจีน แอบลักลอบนำเข้าตามชายแดน

  • แนะ ให้รัฐบาลยกระดับมาตรฐาน เสื้อผ้าจีน เข้าไทย

  • เร่งสร้างแต้มต่อ เจรจา FTA ไทย-อียู ก่อนโรงงานปิดกิจการเพิ่ม

Economy-Cheap-clothes-from-China-causing-Thai-factories-to-fail-SPACEBAR-Hero.jpg

เคยสังเกต กันไหม เวลาสั่งของออนไลน์จากจีน ทำไม ในระบบมันขึ้นว่า สั่งจาก China แต่ถึงเวลารับของไม่กี่วันได้สินค้า

ดร.จิราภรณ์ วิริยะพงษากุล ประธานกลุ่มสิ่งทอ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สินค้าเสื้อผ้าจีนที่ราคาถูกที่เข้ามาเป็นตัวเลือกต่อผู้บริโภคในเมืองไทย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดเมืองไทยมาหลายสิบปีแล้ว โดยรูปแบบการนำมาจำหน่ายต่อในไทย มีทั้งนำเข้ามาถูกกฎหมาย และไม่ถูกฎหมาย

ดร.จิราภรณ์ วิริยะพงษากุล ประธานกลุ่มสิ่งทอ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยต่อ SPACEBAR ว่า เสื้อผ้าจากจีนที่เข้ามาจำหน่ายไทย ส่วนใหญ่มาจากทั้งทางเรือและทางบก โดยการนำเข้ามาใช้ช่องว่างตามข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศไทยและจีน ที่ว่าหากนำสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เข้าไทยไม่ต้องเสียภาษี 

ทำให้ผู้จำหน่ายสินค้า จะใช้วิธีสต็อกของไว้ตามโกดังตามจุดผ่อนปรน จากนั้น เมื่อลูกค้าไทยสั่งผ่านระบบออนไลน์ ผู้ค้าก็จะไว้วิธีนำสินค้าออกมาคลัง ทำให้จะสั่งเกตได้ว่าเวลาสั่งสินค้าในระบบออนไลน์ สินค้าจะส่งถึงบ้านภายในไม่กี่วัน 

ส่วนรูปแบบที่ผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดน ไม่ผ่านพิธีศุลกากรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งผลเสียของที่เสื้อผ้าจากจีนทะลักเข้ามาในประเทศ คือ ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ เพราะบางครั้งสินค้าจากจีนก็ขายต่ำกว่าทุน รวมถึงสินค้าไม่ได้มาตรฐาน

DSC_7742.jpg
Photo: ดร.จิราภรณ์ วิริยะพงษากุล ประธานกลุ่มสิ่งทอ ส.อ.ท. (ภาพ tosh.or.th)

ดร.จิราภรณ์ วิริยะพงษากุล ประธานกลุ่มสิ่งทอสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉายภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและการ์เมนท์ในประเทศไทยว่า สิ่งทอ และการ์เมนท์ หรือ การตัดเย็บ ทั้ง 2 อุตสาหกรรมนี้มีห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงกัน

โดยปัญหาที่ฝั่ง ‘สิ่งทอ’ กำลังเผชิญในช่วงเวลานี้ นอกจากจากแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นแล้ว ปัญหาภายใน อย่าง ‘ค่าไฟฟ้า’ ก็ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ฉุดความสามารถในการแข่งขัน 

กล่าวคือ ขั้นตอนการผลิตผ้าต้องใช้ความร้อนสูง ขณะที่ ค่าไฟฟ้าของไทย อยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย แพงที่สุดในอาเซียน ในขณะที่ค่าไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซีย 2  บาทต่อหน่วย เวียดนาม 3 บาทต่อหน่วย และ จีน 3 บาทต่อหน่วย

ส่วนปัญหาของทาง ‘การ์เมนท์’ (การตัดเย็บ) จะอยู่ที่ ค่าแรงงาน ที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยรูปแบบของผลิตการ์เมนท์จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โรงงาน OEM รับจ้างผลิตเพื่อส่งออก และ ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ในประเทศเพื่อส่งออก 

ดังนั้น โรงงานบางส่วนก็หนีค่าแรง และย้ายฐานการผลิตไป เวียดนาม เพราะค่าแรงงานถูกกว่าแล้ว ยังมีข้อได้เปรียบเรื่องข้อตกลงทางการค้าเสรี FTA สหภาพยุโรป หรือย้ายไปที่ กัมพูชา และ ลาว ที่มีสิทธิพิเศษทางการค้า GSP กับสหภาพยุโรป 

สำหรับภาพรวมการส่งออกเสื้อผ้าของไทย สัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 40% โดยมีลูกค้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา 40 % อียู 20 % ญี่ปุ่น 10 % ส่วน 30 % คือ อาเซียนและอื่นๆ ส่วนการบริโภคในประเทศอยู่ที่ 60% มูลค่ารวม 400,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น มูลค่าขายในประเทศ 300,000 ล้านบาท ส่วน 80,000-100,000 ล้านบาท 

ขณะที่มูลค่านำเข้าอยู่ที่ราว 100,000 ล้านบาท แต่ ดร.จิราภรณ์  มองว่า จากสถานการณ์การนำเข้าสินค้าถูกจากต่างประเทศ น่าจะทำให้ตัวเลขสูงกว่าสถิติ 100,000 ล้านบาท ที่เคยเก็บได้อย่างเป็นทางการ

สาเหตุที่ช่วงหลังมานี้สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศทะลักเข้ามาในไทยสูง ส่วนหนึ่งมาจากภาวะการกระชากของปริมาณสินค้าหลังโควิด-19 ที่ผู้ผลิตเสื้อผ้าหลายประเทศ ต่างประเมินความต้องการคาดเคลื่อน เชื่อว่ามีความต้องการสูงมาก 

แต่เมื่อประเมินกำลังซื้อจริงกลับพบว่าไม่ได้สูงเท่าที่ประเมินไว้ จึงจำเป็นต้องระบายสต็อกด้วยการขายต่ำกว่าราคาทุน และมีการนำเข้าสินค้ามาแบบไม่ถูกวิธีการ ขณะที่กำลังซื้อทั่วโลกของลูกค้าหดตัว ทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่สูง ทำให้ผู้ค้าเกิดการแข่งขันกันสูงมาก

ดังนั้นด้วยปัจจัยข้างต้นเอง ทำให้ ผู้ผลิตเสื้อผ้าของไทย บางส่วนมีการหยุดกำลังการผลิตเพื่อรอประเมินสถานการณ์ แต่อาจจะไม่ถึงขั้นปิดกิจการ ขณะที่บางส่วน ก็ปรับไปทำธุรกิจอื่นแทน เช่น สหยูเนี่ยน ไทยเกรียง กรุ๊ป  หันไปประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แทน 

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการสิ่งทอ-การ์เมนท์ของไทย ที่ยังอยู่ในอุตสาหกรรมไม่ให้ปิดตัว ทาง ดร.จิราภรณ์ วิริยะพงษากุล ประธานกลุ่มสิ่งทอ ส.อ.ท. จึง เสนอแนะ 4 ประเด็นสำคัญเร่งด่วน ที่อยากให้รัฐบาลพิจารณาได้แก่ 

1.การสร้างมาตรฐานสำหรับ ‘เสื้อผ้านำเข้า’ โดยปัจจุบันสินค้าสินผ้าไทย ที่ส่งไปจำหน่ายยังประเทศจีน ต้องผ่าน มาตรฐาน Guobiao หรือมาตรฐาน GB เป็นมาตรฐานแห่งชาติของจีนที่ออกโดย Standardization Administration of China (SAC) ซึ่งเสื้อผ้าของผู้ส่งออกไทยที่ส่งไปจีน ต้องถูกสุ่มตรวจ โดยมาตรฐานนี้เทียบเท่า มอก. ของไทย  

แต่ขณะที่ สินค้าจากจีน นำเข้าไทย ไม่มีมาตรฐานขั้นต่ำ ทำให้ผู้บริโภคสุ่มเสี่ยงที่จะรับอันตรายด้วย เช่น มีการใช้สี Azo dyes ซึ่งมีสารก่อมะเร็ง จึงอยากให้รัฐบาล ยกระดับมาตรฐานสินค้าเพื่อดูแลประชาชนด้วย 

2.ขอให้รัฐบาลไทยการเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้าเสรี FTA กับ อียู และ สหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างแต้มต่อด้านภาษีแก่ผู้ส่งออกไทย เพื่อเร่งลดปัญหาการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน

3.ขอให้รัฐบาลปรับลด ‘ค่าไฟฟ้า’ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามที่ ส.อ.ท. เคยเสนอที่หน่วยละ 3.60-3.80 บาท  

4.ขอให้รัฐบาลพิจารณาค่าแรงงานขั้นต่ำอย่างเหมาะสม อยากให้พิจารณาตามความเหมาะสมของฝีมือแรงงาน และ ไม่ควรปรับค่าแรงงาน แต่ละจังหวัด ให้มีส่วนต่างกันมาก เพราะจะเกิดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นปัญหาใหม่ ขึ้นมาอีก เสนอว่า รัฐบาลควรพิจารณาปรับค่าแรงงานอย่างเหมาะสม ปล่อยให้เป็นไปตามกลไลตลาด

ไม่อยากให้เล่นการเมือง ด้วยเรื่อง ค่าแรง เพราะ แรงงานไทย ค่าตัวเกินค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว กลายเป็นว่า แรงงานต่างชาติ ที่ได้ประโยชน์ กลุ่มนี้ส่งเงินกลับประเทศบ้านเกิด คนไทยก็ไม่ได้อะไร อยากให้ พิจารณา ค่าแรงตามทักษะ ที่แต่ละคนมีมากกกว่า

ดร.จิราภรณ์ วิริยะพงษากุล ประธานกลุ่มสิ่งทอ ส.อ.ท.

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์