สงครามตลาดไอศกรีม Soft Serve ในช่วงปีที่ผ่านมามีการแข่งขันอย่างดุเดือด ด้วยมูลค่าทางการตลาดไอศกรีม Soft Serve (Unpackage) ที่มีการคาดการณ์ว่าจะสูง 10,000 ล้านบาทในปี 2567 แดรี่ควีน ถือเป็นเจ้าตลาดที่มีสัดส่วน 70-80 % แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแบรนด์สัญชาติจีน อย่าง Mixue จากจีน และ Ai – CHA จาก อินโดนีเซีย เจ้ามาตีตลาดจนกลายเป็นความท้าทายใหม่ของอุตสาหกรรมนี้
ล่าสุด ธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด บริษัทในเครือ ไมเนอร์ กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจร้านไอศกรีม "แดรี่ควีน“ กล่าวถึง กลยุทธ์ ความท้าทาย และโอกาสของไอศกรีม Soft Serve ในปี 2567 นี้

ภาพรวมการแข่งขันของตลาดไอศกรีม Soft Serve เป็นอย่างไร
ธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด กล่าวถึง มูลค่าตลาดไอศกรีม Soft Serve ในปี 2566 มีการคาดการณ์มูลค่าราว 22,000-23,000 ล้านบาท ส่วนปี 2567 คาดมูลค่า 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็น สินค้ากลุ่ม Package ประมาณ 15,000 ล้านบาท กลุ่ม Unpackage ราว 10,000 ล้านบาท ซึ่ง สินค้าของแดรี่ควีน จัดอยู่ในกลุ่ม Unpackage โดยมองภาพรวมการเติบโตในเชิงปริมาณ กลุ่ม Package มีโอกาสเติบโตสูงกว่าจากการเติบโตของห้างสรรพสินค้า
ส่วนความท้าทายของไอศกรีม Soft Serve ในกลุ่ม Unpackage ปัจจุบันมองเห็นภาพที่ในประเทศไทยมีแบรนด์ต่างชาติ ขยายมาตัวแบ่งส่วนแบ่งจำนวนมาก เนื่องมาจากจีนเศรษฐกิจซบเซา ผู้ประกอบการจึงขยายโอกาสมาหาลูกค้าใหม่ในอาเซียน แต่อย่างไรก็ตามประเมินว่า สำหรับผู้เล่นรายใหม่มีการวาง Position ไอศกรีม Soft Serve เป็นเมนูเสริม (complementary) แต่จะเน้นขายเครื่องดื่มเป็นหลัก ในขณะแดรี่ควีน ขายไอศกรีม Soft Serve เป็นหลัก จึงมองว่าไม่ใช่คู่แข่งทางตรง

แดรี่ควีน มากกว่า Soft Serve ไม่สู้สงครามราคา (Price War)
ธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมา แดรี่ควีน ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ด้วยสาขา 500 กว่าสาขาทั่วประเทศ โดยมองว่าคู่แข่งทางตรงของ แดรี่ควีน คือ เหล่าแบรนด์ fast food ที่ขายไอศกรีม Soft Serve (KFC , Mcdonald , เบอร์เกอร์คิง)
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความกังวลบ้าง กับการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ แต่ไม่ได้นำมาพิจารณาอย่างมีนัยะสำคัญ แต่ใช้วิธีการได้มุ่งโฟกัสในสินค้าและบริการที่ แดรี่ควีน โดดเด่นอยู่แล้ว จึงนำมาสู่การเปิดรูปแบบสาขาใหม่ ที่จะช่วยเพิ่มยอดขาย มากกว่าการเปิดสาขาเพิ่ม หรือ การลงไปแข่งขันด้วยกลยุทธ์สงครามราคา (Price War)
โดย Key Success ของแดรี่ควีน คือ ไอศกรีม Soft Serve ที่เป็นตัวบลิซชาร์ด ที่ต้องเปลี่ยนสินค้าอย่างต่ำ 7 ครั้งต่อปี ทำให้เน้นโฟกัสไปที่คุณภาพของสินค้า (Product Quality) นวัตกรรม และส่วนผสมของสินค้ามากกว่า

ถ้าจะตอบเรื่องความกังวลเรื่องการแข่งขันของการเข้ามาของเจ้าใหม่ๆ ก็มีกังวลเรื่องการแข่งขันบ้าง แต่ไม่ได้นำมาเป็นเกณฑ์(criteria) ในการปรับกลยุทธ์ เพราะว่าตอนนี้ เรา (แดรี่ควีน) เป็นเจ้าตลาด เราควรจะโฟกัสที่จุดแข่งของเรา ไอศกรีม Soft Serve ที่เป็นตัวบลิซซาร์ด ที่ต้องเปลี่ยนสินค้าอย่างต่ำ 7 ครั้งต่อปี ทำให้โฟกัสไปที่คุณภาพของสินค้า (Product Quality) นวัตกรรม และส่วนผสมของสินค้ามากกว่า สงครามราคา
ธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด
แดรี่ควีน เปิดตัว ‘DQ lounge’ สาขาแรกที่ ห้างเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ประกาศเปลี่ยนจาก ‘Soft Serve Leader’ สู่ ‘Flavor Treat’

เราจะเพิ่มยอดขายด้วยการขยายสาขาอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ โจทย์คือ เราจะเพิ่มยอดขายต่อสาขาอย่างไร นั่นคือเหตุผลว่า ทำไม เราจะมีกลยุทธ์ของการทำ ‘Treat Concept’ ที่มันมากกว่า Soft Serve แต่จะเป็น ‘Flavor Treat’ จึงเป็นที่มาของการเปิดร้านรูปแบบ 'DQ Lounge'
ธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด
สำหรับสาขารูปแบบใหม่ในปี 2567 คือ “DQ Lounge” ตั้งอยู่ในห้างเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ชั้น G ขนาดพื้นที่ทั้งหมด 40 ตารางเมตร ความพิเศษของสินค้าใน “DQ Lounge” คือ มีสินค้าเพิ่มมา 2 หมวด คือ เบเกอรี่ และ พาร์เฟ่ต์ ราคา 79-129 บาท ทำให้เฉลี่ยแล้ว ลูกค้าจ่ายมากกว่าเดิม 20 บาทต่อหัว

โดยพื้นที่ร้านจะแบ่งออกเป็น 2 โซน ได้แก่
1.โซนการให้บริการที่ลูกค้าสามารถเลือกสั่งเมนู ต่าง ๆ มีการเพิ่มของหวานกลุ่มเบเกอรี่ อาทิ บราวนี่ โทสต์ และ พาร์เฟต์ ที่เป็นกลุ่มเมนูที่สร้างยอดขายให้กับร้านเพิ่มขึ้นถึง 10%
2.โซนที่นั่งมากกว่า 40 % ของพื้นที่ร้าน สำหรับรองรับลูกค้า อย่างสาขาแรกรองรับได้ 20 กว่าคน หลังจากทดลองเปิดให้บริการ 2 เดือน พบว่าสามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้เติบโตมากขึ้นถึง 20 % มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 15 %

เราตั้งเป้าหมายของ category นี้ จะตั้งเป้าหมายเพิ่ม จำนวนลูกค้าแค่ 10 % และยอดขายเพิ่ม 15 % แต่สิ่งที่เราได้คือ หลังจากเปิดตัว ‘DQ lounge’ ได้ราวเกือบ 2 เดือน ยอดขายเกินเป้าโตไปถึง 20% และอีก 9 สาขาที่จะเปิดตามแผนในปี 67 เราก็หวังว่าจะเพิ่มยอดขายได้มากกว่า 20 %
ธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด
สำหรับเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 3-3.5 ล้านต่อสาขา ราคาสูงกว่ารูปแบบ Kiosk ราว 20 % กรณีถ้าเปิดครบทั้ง 10 สาขาในปีนี้ จะใช้เงินลงทุนราว 35 ล้านบาท ขนาดพื้นที่สาขาละ 40 ตารางเมตร โดย แดรี่ควีน จะเลือกปรับสาขาจาก Kiosk เป็น “DQ Lounge” ในสถานที่มีร้านมากกว่า 1 สาขาก่อน
โดยสาขาที่ 2 ของรูปแบบ “DQ Lounge” เตรียมเปิดที่ ฟิวเจอร์ พาร์ครังสิต และจะมีการประเมินผลระหว่างเปิดครบทั้ง 10 สาขา โดยจะโฟกัสในพื้นที่ First tier mall ก่อนที่อนาคตขยายสาขารูปแบบ‘DQ lounge’ อย่างน้อย 1 แห่งในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากเป้าหมายในแง่ของรายได้แล้ว แดรี่ควีน มองว่า การสร้างพื้นที่ สำหรับนั่งทานเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า ยังช่วยให้ลูกค้ารู้สึกผูกพันกับแบรนด์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย