แจกเงินดิจิทัล แก้หรือสร้างวิกฤตเศรษฐกิจ

17 พ.ย. 2566 - 08:15

  • แจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท กับ คำถาม แก้หรือสร้างวิกฤตเศรษฐกิจ?

  • เพราะความไม่แน่นอนเรื่องนโยบาย

  • เตือนบทสรุปโครงการล่ม แถม ฉุดเศรษฐกิจลงเหว

economy-digital-wallet-money-government-SPACEBAR-Hero.jpg

คงต้องยืมคำพูด เรื่อง ‘การติดกระดุมผิดเม็ด’ มาใช้อีกครั้ง กับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ที่ถูก ‘ไฟท์บังคับ’ ให้ต้องกำหนดเป็นนโยบาย ‘เรือธง’ ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งสืบเนื่องมาจากแคมเปญหาเสียงที่พยายามสร้างภาพว่า ‘เมืองไทย อยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ’ ที่จำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยการแจกเงินกว่า 5 แสนล้านบาท เพื่อให้ชาวบ้าน 50 ล้านคน ช่วยกันเอาเงินหมื่นไปใช้ โดยมีความเชื่อว่าจะช่วยกระตุก GDP หรือเศรษฐกิจประเทศไทย ให้เติบโตขึ้นมาเฉลี่ยปีละ 5% ในระยะ 4 ปีข้างหน้า

เมื่อติดกระดุมเม็ดแรกผิด ตอนนี้จึงดูเหมือนไม่ว่าจะขยับไปทางไหนก็ดูจะสะดุด และติดขัดไปหมด ผ่านไปสองเดือน รัฐบาลเพิ่งตัดสินใจว่า จะเดินหน้าโครงการโดยจะหาเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะใช้ดำเนินโครงการ โดยวิธีการออกเป็น พระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน หลังจากทางเลือกอื่นดูจะกลายเป็น “ซอยตัน” ยังไม่ต้องพูดถึงรายละเอียดของโครงการส่วนอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องปรับต้องแก้กันอีกมากมาย จนถูกค่อนแคะว่ากลายเป็นนโยบาย “ไม่ตรงปก” 

แต่ที่สำคัญการเลือกเส้นทางการออกเป็น พ.ร.บ.ก็ดูจะเป็นเส้นทางสายวิบากที่ต้องผ่านอีกหลายด่านกว่าจะผลักดันโครงการออกมาสำเร็จ ลำพังแค่ในชั้นกฤษฎีกาก็ยังแทบมองไม่เห็นอนาคตเลยว่า จะผ่านความเห็นให้เสนอเป็นกฎหมายได้หรือไม่ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 เมื่อพลิกดูรายชื่อ อรหันต์ทั้ง 10 คนแล้ว มีสิทธิ์ที่จะตกม้าตายตั้งแต่ ‘ดาบแรก’ ก็เป็นได้ หากไม่สามารถตอบได้ว่า 

‘เมืองไทยกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง จนถึงขั้นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับ 5 แสนล้านบาท โดยวิธีการแจกเงินชาวบ้านจริงหรือ’

สถานการณ์ในขณะนี้ คนในรัฐบาลในซีกของพรรคเพื่อไทย จึงดูจะออกอาการสับสนอลหม่านไปหมดในการให้ข้อมูลกับสาธารณะ พูดไม่ตรงกันตั้งแต่ ระดับนายกฯ มาจนถึงระดับปฎิบัติ ที่บ่งบอกอาการของความไม่มั่นใจว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง ไม่ว่าจะเรื่อง ‘แผนสำรอง’ กรณีโครงการไปต่อไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลบอกว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต

อาการดังกล่าว นักเศรษฐศาสตร์ เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “ความไม่แน่นอนของนโยบาย” (Policy Uncertainty) ที่ถือว่าเป็น ‘คำต้องห้าม’ ที่รัฐบาลของทุกประเทศจะต้องไม่เป็นคนทำให้เกิดสภาวะดังกล่าวโดยเด็ดขาด เพราะจุดจบอาจนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลในตอนท้ายที่สุด

ความไม่แน่นอนของนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล นอกจากจะต้องลุ้นว่าจะผ่านอีกหลายด่านกว่าออกเป็น พ.ร.บ.ได้หรือไม่ ยังมีปัญหาในเรื่องของ ‘ระยะเวลา’ เพราะในขณะที่ยืนยันว่า เรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต แต่กว่ากระบวนการออกกฎหมายจะเสร็จ ก็คาดว่าอาจจะล่วงเลยไปถึงกลางปีหน้า ทำให้เกิดคำถามว่า หาก เศษฐกิจวิกฤตจริง กว่าจะถึง 6 เดือนข้างหน้า สถานการณ์เศรษฐกิจจะไม่ยิ่งเข้าขั้น ‘ตรีทูต’ หรือ ‘โคม่า’ 

รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เผยแพร่บทความให้ความเห็นว่า ความแน่นอนของนโยบายดังกล่าว จะกระทบและสะท้อนให้เห็นผ่าน 3 ช่องทางหลัก 

ช่องทางแรก คือ การลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านตลาดทุน เพราะผู้ประกอบการจะชะลอการลงทุน เพราะไม่มั่นใจว่า โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ในขณะที่ในตลาดทุน ดัชนีราคาหุ้นก็จะสะท้อนถึงความไม่มั่นใจ เห็นได้ชัดจากระดับราคาที่ไหลลง และซึมลึก ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายก็หดตัวลงไปอย่างมีนัยสำคัญ จนแม้แต่ นายกฯ เศรษฐาเองก็หงุดหงิดกับ ปรากฎการณ์ในตลาดหุ้นช่วงนี้ 

ช่องทางที่สอง คือ ตลาดเงิน เมื่อนโยบายมีควาไม่แน่นอน ความเสี่ยงทางการเงินก็จะเพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการหันไปถือเงินสดมากขึ้น สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ลดลง ต้นทุนการก็เงินเริ่มสูงขึ้น 

ช่องทางสุดท้าย คือ พฤติกรรมของผู้บริโภค ที่จะชะลอการตัดสินบริโภคออกไป เพื่อรอความชัดเจนในนโยบาย และหันไปออม หรือ ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในสภาวะที่มีความไม่แน่นอน หากมีมาตรการอื่น ที่นอกจากไม่ช่วpประคับประคองสถานการณ์ แต่กลับซ้ำเติมสถานการณ์ ก็ยิ่งอาจจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก

กรณีที่เห็นได้ชัด คือ ความพยายามที่จะออกมาตรการ e-Refund มาชดเชยให้กับกลุ่มผู้มีรายได้สูงเกินกว่าเดือนละ 7 หมื่นบาท และมีเงินในบัญชีเกิน 5 แสนบาท ที่รัฐบาลจะกระตุ้นโดยการให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้ จากการซื้อสินค้า และนำใบกำกับภาษี Electronic ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ 5 หมื่นบาท ซึ่งดูเหมือน่าจะเป็นบวก แต่กลับไปกำหนดให้ใช้สิทธิประโยชน์ สำหรับปีภาษี 2567 คือ 1มกราคม ปีหน้า

มาตรการดังกล่าวจะกลับกลายเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ มากกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี เพราะทำให้กำลังซื้อและการบริโภคในช่วงปลายปีชะลอตัวลง

สุดท้ายความพยายามในการแก้ปัญหาทั้งหมด จึงกลับกลายเป็นการทำให้รัฐบาลตกอยู่ในสภาพ ‘ลิงพันแห’ ยิ่งพยายามแก้แห ก็ยิ่งกลับกลายเป็นการสร้างปม สร้างบ่วงรัดพันตัวเองหนักยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และในตอนสุดท้าย นอกจากโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท นอกจากจะไม่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจจะกลายเป็นตัวสร้างวิกฤตเศรษฐกิจไปเสียอีก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์