ทำไม นักลงทุนจี้ฟื้น กองทุน LTF กลับมา

22 ต.ค. 2566 - 02:23

  • นักวางแผนการเงิน เห็นด้วย ฟื้นกองทุน LTF

  • FETCO ชงดึงกองทุน LTF กลับมาใหม่อีกครั้ง

  • หวังกระตุ้นนักลงทุนรายย่อย

economy-finance-invest-LTF-RMF- fund-review-SPACEBAR-Hero.jpg

จากกรณี กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เตรียมเข้าพบ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้มีการพิจารณาส่งเสริมการลงทุนในตลาดทุนระยะยาวมากขึ้น โดยสรุปมี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.ขอให้มีการต่ออายุสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน SSF ที่จะสิ้นสุดในปี 2567

2.ขอให้มีการจัดตั้งกองทุนใหม่ๆ กองทุนสำหรับช่วงวัยเด็ก วัยทำงาน หรือ วัยสูงอายุ

3.พิจารณานำกองทุน LTF กลับมาใหม่อีกครั้ง

4.กองทุนระยะยาวเพื่อความยั่งยืน

สำหรับประเด็นการรื้อฟื้นกองทุน LTF ให้กลับมา เป็น 1 ใน 4 ข้อเสนอ ที่มีเป้าหมาย คือ การสนับสนุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยราว 29.18% เท่านั้น โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลมีนโยบายให้กองทุน LTF สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2562 และใช้กองทุน SSF แทน

กองทุน LTF และ กองทุน SSF ต่างกันยังไง ?

What-are-the-differences-between-LTF-funds-and-SSF-funds.jpg

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF (Long – Term Equity Fund ) คือ กองทุนรวมที่เน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้น ซึ่งเงินลงทุนใน LTF สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 7 ปีปฎิทิน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2562 

ส่วน กองทุนรวมเพื่อการออม SSF (Super Savings Fund) คือกองทุนน้องใหม่มาทดแทน LTF เริ่มใช้เมื่อต้นปี 2563 สามารถใช้ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งปี ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆไม่เกิน 500,000 บาท ถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ และไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

‘กองทุน LTF’ สิทธิประโยชน์ 2 เด้ง ลดภาษี-กำไรหุ้น

นฤมล บุญสนอง นักวางแผนการเงิน CFP® มองว่า จากกรณีที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนักลงทุนบางส่วน เสนอให้ รัฐบาลนำกองทุน LTF กลับมาเป็นเรื่องที่ดี และเธอขอเป็นหนึ่งเสียงที่สนับสนุนเรื่องนี้ เพราะกองทุน LTF สนับสนุนให้นักลงทุนนานถึง 7 ปี ซึ่งผลตอบแทนในระยะยาวได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี โดยกองทุน LTF เป็นการลงทุนในหุ้น

และรวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ 2 คือ ผู้ลงทุนสามารถนำวงเงินที่ซื้อไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งในอดีตให้วงเงินสูงถึง 500,000 บาท ทำให้นักลงทุนตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะใช้เครื่องมือกองทุน LTF ในการลงทุนและลดหย่อนภาษีได้ในเวลาเดียวกัน

และแม้ที่ผ่านมา รัฐบาลจะมีกองทุนรวมเพื่อการออม SSF มาทดแทน แต่ต้องบอกว่าในทางปฎิบัติสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท และต้องนำวงเงินนี้ไปรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆไม่เกิน 500,000 บาท หมายความว่า เพดาน 500,000 บาท นี้ ต้องนำไปรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF (Retirement Mutual Fund)  ด้วย ทำให้ผู้ลงทุนต้องไปคำนวณกับตัวลดหย่อนอื่นๆ เงื่อนไขนี้จึงไม่จูงใจเหมือนกองทุน LTF ในอดีต 

ส่วนข้อเสนอที่อยากให้มีการตั้งกองทุนใหม่ๆ ขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุน นักวางแผนการเงิน CFP รายนี้ ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่า ควรทบทวนให้มีการนำไ/กองทุน LTF กลับมาจะดีกว่า เพราะนักลงทุน ผู้แนะนำการลงทุน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เข้าใจเงื่อนไขเดิมของกองทุน LTF อยู่แล้ว ไม่ต้องทำความเข้าใจ และสร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมา

1806599.jpg

“ตั้งกองทุนใหม่ นักลงทุนก็ไม่รู้จัก ประสิทธิภาพมันเป็นยังไง แต่ กองทุน LTF เวลาหุ้นตก คนก็ซื้อพิสูจน์ในอดีตว่า มันมีประสิทธิผล ทำให้มีเงินก้อนช่วงเกษียณ”

นฤมล บุญสนอง นักวางแผนการเงิน CFP® และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ นักลงทุน จี้ฟื้นกองทุน LTF

ข้อเรียกร้องนี้ สอดคล้องกับ ความเห็นของ อธิป กีรติพัชญ์ นักลงทุน Fundamental VI ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวระดับสูง ประจำปี 2566 ว่า การหมดอายุของกองทุน LTF ตั้งแต่ปี 2563  พบว่าเม็ดเงินของสถาบันการลงทุนหายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากกองทุน LTF  มีส่วนสำคัญที่จะมารักษาสมดุลกับนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนรายย่อย

อธิป จึงเสนอให้รัฐบาลฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF กลับขึ้นมาอีกครั้ง เพราะจะทำให้นักลงทุนรายย่อย โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน สามารถออมเงินเพื่อวัยเกษียณให้กับตัวเองและครอบครัวและช่วยประหยัดภาษี หนุนให้เม็ดเงินที่ลงทุนช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้นไทยด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์