ปรับดอกเบี้ย? จับตาประชุม กนง.

25 ก.ย. 2566 - 04:27

  • กนง.มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ถึงสิ้นปีนี้

  • เศรษฐกิจไทยมีโมเมนตัมชะลอลง สะท้อนผ่านตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2566 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด

economy-finance-investment-thailand-bath-gdp-interes-SPACEBAR-Hero.jpg

รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า กนง.มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ในการประชุม วันที่ 27 ก.ย.ที่จะถึงนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีโมเมนตัมชะลอลง สะท้อนผ่านตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2566 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด 

ขณะที่เงินเฟ้อทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานก็อยู่ระดับต่ำกว่าเป้าหมายของ กนง. ที่ 1-3% อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ ทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังคงเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะกดดันการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย ดังนั้น คาดว่า กนง. จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมกนง. ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ดี มองว่า กนง. อาจยังคงส่งสัญญาณเปิดโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในระยะข้างหน้า จากการส่งสัญญาณของ กนง.ในการประชุมครั้งก่อน ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาเร่งขึ้นของเงินเฟ้อจากราคาอาหารปรับสูงขึ้น อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงมีความเสี่ยงที่จะทรงตัวในระดับสูง โดยกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC+) มีแนวโน้มที่จะยังคงจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ กนง. ยังเผชิญแรงกดดันจากการอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญของค่าเงินบาท ทำให้คาดว่าในการประชุมครั้งนี้ กนง. อาจยังคงส่งสัญญาณเปิดโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงให้น้ำหนักต่อกรณี กนง. สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น และคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2566 แม้ว่าเงินเฟ้อจะยังมีความเสี่ยงที่จะปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารและราคาพลังงานในตลาดโลก แต่คาดว่ามาตรการลดค่าครองชีพจากทางภาครัฐคงจะช่วยลดแรงกดดดันด้านเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะยังทรงตัวอยู่ในกรอบเป้าหมายของกนง. ที่ 1-3% ต่อไปในระยะข้างหน้า

ขณะที่ท่ามกลางโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลง กนง. คงเผชิญข้อจำกัดในการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์