K-BANK จี้รัฐ เร่งประกาศแนวทางเก็บภาษีลงทุนหุ้นนอก เหตุบังคับใช้ม.ค.67 แต่ยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัด
จากกรณีกรมสรรพากร ออกประกาศเตรียมเริ่มเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ ซึ่งจะครอบคลุมถึงเงินได้ หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศกับนักลงทุน แม้ว่าจะนำเงินได้จากการลงทุนกลับเข้ามาในปีภาษีอื่นๆ ก็จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย จากเดิมจะคำนวณเก็บภาษีเฉพาะที่นำเงินกลับเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
สำหรับประกาศนี้เป็นคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ระบุว่า เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง ประมวลรัษฎากร ในภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

ล่าสุด (17 พ.ย.66) พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director,Wealth Planning and Non-Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ ที่จะเริ่มบังคับใช้ ม.ค. 2567 ซึ่งตอนนี้ นักลงทุน และสถาบันการเงิน ยังมีความสับสนว่า กรมสรรพากรจะคงแนวทางเดิมตามที่เคยมีประกาศออกมาก่อนหน้านี้ หรือ ปรับแนวทางในการจัดเก็บหรือไม่
ก่อนหน้านี้ทาง กรมสรรพากร เคยออกมาให้ข้อมูลว่าอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และออกจะมาประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่รายละเอียด รวมถึงที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีการเชิญสถาบันการเงินเข้าไปหารือเรื่องนี้ จึงอยากให้เร่งประกาศแนวทางการจัดเก็บภาษีได้จากต่างประเทศโดยเร็วที่สุด หรือ อย่างช้าภายในต้นเดือนธันวาคม 66
รายได้ที่จะเอามาคำนวณมีหลากหลายส่วน ยกตัวอย่าง จากเงินต้นที่โอนออกไปลงทุน เมื่อนำไปลงทุน จะพบว่ามีรายได้หลายส่วน เช่น รายได้จากการลงทุน ดอกเบี้ย รายได้จากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน หรือ แม้กระทั่ง หากนักลงทุน ขาดทุน จะถือเป็นข้อยกเว้นหรือไม่ จึงอยากได้ความชัดเจน จากรัฐบาลโดยเร็วที่สุด
พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director,Wealth Planning and Non-Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย
พีระพัฒน์ เหรียญประยูร เสริมว่า จากคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 คือ การแก้ประกาศระดับเจ้าพนักงานสรรพากร ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานสามารถดึงข้อมูลมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ The common reporting standard (CRS) มารวมในการประเมินเงินได้ ซึ่งนั่นหมายถึง กรณีนักลงทุนหุ้นในต่างประเทศ ตั้งแต่มกราคม 2567 เป็นต้นไป จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการคำนวณภาษีของนักลงทุน จึงทำให้หลายคนติดตามความชัดเจนเรื่องนี้ใกล้ชิด เพราะส่งผลต่อการวางแผนในการลงทุนของผู้ลงทุน