เปลือกมังคุด ไม่ไร้ค่า แปรรูปสร้างมูลค่าได้มหาศาล

16 ก.พ. 2567 - 03:58

  • มีฤทธิ์ช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย

  • ผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นเท้าที่ใช้สารสกัดจากเปลือกมังคุด

  • ยกระดับรายได้ให้กับชุมชน

economy-fruit-mangosteen-processed-SPACEBAR-Hero.jpg

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า มังคุด เป็นไม้ผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กระบวนการปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูปของผลไม้เหล่านี้มีเศษเหลือทิ้งกลายเป็นปัญหาขยะจำนวนมาก วิธีการที่เกษตรกรส่วนใหญ่กำจัดจะนำไปเผาทิ้งเนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด แต่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และทำลายสิ่งแวดล้อม คณะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร จึงศึกษาวิจัยนำสิ่งเหลือทิ้งเหล่านี้นำกลับมาทำให้เกิดประโยชน์โดยนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เพิ่มมูลค่าได้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่วิสาหกิจชุมชนต้นแบบและขยายผลสู่วิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ เช่น ศพก. อบต. และกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

ปิยะมาศ โสมภีร์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี เปิดเผยว่า จากงานวิจัยได้ค้นพบสารสกัดจากเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค ทีมวิจัยจึงได้ผลิตผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นเท้าจากสิ่งเหลือทิ้งจากมังคุด โดยนำส่วนของเปลือกมังคุดมาวิจัยและพัฒนาทำให้ได้ผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นเท้า ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการบูร น้ำมันกานพลูและน้ำมันทีทรี สารสกัดจากเปลือกมังคุดที่สกัดร่วมกับเอทานอล มีฤทธิ์ในการยับยั้งจำนวนเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้มากกว่า จึงได้ออกแบบผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นเท้าที่ใช้สารสกัดจากเปลือกมังคุด จำนวน 4 ต้นแบบผลิตภัณฑ์

แป้งโรยเท้า นำสารสกัดเปลือกมังคุด ที่สกัดด้วยเอทานอลมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่คัดแยกจากเท้าอาสาสมัคร 6 คนพบว่า สารสกัดเปลือกมังคุดเข้มข้น 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งเชื้อได้ 17 ไอโซเลท จากนั้นนำมาหาค่าการทดสอบหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อและหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อได้นำมาทำเป็นส่วนผสมในแป้งโรยเท้า จากนั้นนำไปทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 39 คน ความรู้สึกแห้งสบายหลังการใช้ ความรู้สึกในการอยากใช้ผลิตภัณฑ์และความสะดวกในการใช้บรรจุภัณฑ์อยู่ในระดับมาก

สเปรย์ดับกลิ่นเท้า นำสารสกัดเปลือกมังคุดมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำสเปรย์ดับกลิ่นเท้า โดยใช้ความเข้มข้นของสารสกัดเปลือกมังคุด 3.13 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งเป็นค่าที่ได้จากการทดสอบความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อได้ จากนั้นนำไปทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 39 คน ความรู้สึกแห้งสบายหลังการใช้ประสิทธิภาพในการระงับกลิ่นหลังการใช้ ความรู้สึกในการอยากใช้ผลิตภัณฑ์ และความสะดวกในการใช้บรรจุภัณฑ์อยู่ในระดับมาก

economy-fruit-mangosteen-processed-SPACEBAR-Photo02.jpg

แผ่นรองรองเท้า  นำเปลือกมังคุดมาเผาและบดให้ละเอียดนำมาขึ้นรูปเป็นแผ่นรองรองเท้า โดยการผสมน้ำยางพารา 1,800 กรัม และผงถ่านเปลือกมังคุด 200 กรัม เทลงในแม่พิมพ์โฟมที่หนา 0.2 มิลลิเมตร ผสมสารที่มีกลิ่นหอมจากสารธรรมชาติและมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้แก่ การบูร กานพลู และน้ำมันทีทรี ที่ความเข้มข้น 0.5% ได้เป็น 4 สูตร นำไปทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 47 คน ความพึงพอใจหลังใช้ 8 ชั่วโมงทุกสูตรอยู่ในระดับมาก ความสวยงามของแผ่นรองเท้าอยู่ในระดับมาก

สติกเกอร์แปะรองเท้า  นำเปลือกมังคุดมาเผาและบดให้ละเอียด นำไปผสมกับเยื้อกระดาษรีไซเคิลแบ่งเป็นกระดาษรีไซเคิลที่ใส่สารสกัดเปลือกมังคุดที่ความเข้มข้น 3.13 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และกระดาษที่ผสมถ่านมังคุดอัตรา เยื่อกระดาษต่อถ่าน คือ 2:1 จากนั้นนำกระดาษมาเจาะเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 มิลลิเมตร แช่ในสารที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้แก่ การบูร กานพลู และน้ำมันทีทรี ที่ความเข้มข้น 5% ทั้งหมด 8 สูตร  นำไปทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 35 คน ความพึงพอใจหลังใช้ 8 ชั่วโมงทุกสูตรอยู่ในระดับมาก

economy-fruit-mangosteen-processed-SPACEBAR-Photo01.jpg

ปิยะมาศ กล่าวต่อไปว่า จากการทดลองอาสาสมัครกลุ่มตัวอย่างที่มีกลิ่นเท้า ผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นเท้าที่ใช้สารสกัดจากเปลือกมังคุดสามารถออกฤทธิ์ในการต้านเชื้อราและระงับกลิ่นเท้าได้  อาสาสมัครที่เข้าร่วมวิจัยมีความพึงพอใจถึง 96% หลังจากได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี  จึงได้ขยายผลโดยการนำไปถ่ายทอดเทคนิค วิธีการต่าง ๆ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และชุมชนอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกของวิสาหกิจชุมชน ตัวอย่างเช่นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคลองน้ำเค็มทันใจ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี  ได้นำต้นแบบผลิตภัณฑ์แป้งและสเปรย์ของโครงการนี้ไปพัฒนาต่อยอดกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 ผลิตภัณฑ์ คือ แป้งแก้คัน ‘กันเกา’ และสเปรย์ระงับกลิ่นกาย ‘ดีจี้’

การจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งจากผลไม้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนเป็นระดับอุตสาหกรรมได้ และเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้า เพิ่มขีดความสามารถของคนในชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมของชุมชน ยกระดับรายได้ให้กับชุมชนเกิดการพึ่งตนเองและให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนที่สำคัญลดขยะในภาคเกษตรได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์