อัญมณีเครื่องประดับ ปี66 ยอดส่งออกแตะ 5 แสนล้าน

21 ก.พ. 2567 - 08:16

  • ‘บิ๊ก 3’ ที่สุดแห่งพลอยสีในตลาดโลก : ทับทิม แซปไฟร์ มรกต

  • ‘เพชร’ เผชิญปัจจัยลบ คนรุ่นใหม่เทใจให้เพชรสังเคราะห์ เพราะราคาและเทรนด์รักษ์โลก

  • GIT เปิดมาร์เก็ตเพลส ติดปีกเอสเอ็มอี-นักออกแบบอัญมณี ‘โกอินเตอร์’

economy-gem-jewelry-industry-export-SPACEBAR-Hero.jpg

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ละปีดึงเงินเข้าประเทศอย่างมหาศาล และรั้งอันดับมูลค่าส่งออก อันดับ 3 มาอย่างต่อเนื่องหลายปี คิดเป็นสัดส่วน 5.14% ของสินค้าส่งอออกไทย รองจากรถยนต์ และคอมพิวเตอร์ โดยในปี 2566 สร้างมูลค่าการส่งออกรวมแตะหลัก 500,000 ล้านบาท (14,636.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ หากไม่นับรวมทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป จะมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่เกือบ 300,000 ล้านบาท (8,658.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

นอกเหนือจากสถานภาพการส่งออกที่แข็งแกร่งของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ ยังเห็นแนวโน้มขาขึ้นตลาดอัญมณีในส่วนที่เป็น ‘พลอยสี’ จากสถิติส่งออกปี 2566 ที่พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน มียอดส่งออกเพิ่มขึ้น 97.19% ขณะที่ พลอยเนื้อแข็ง มียอดส่งออกเพิ่มขึ้น 67.12% สวนทางทองคำ ที่ยอดส่งออกลดลง 15.51% และเพชรเจียระไน การส่งออกลดลง 26.73% 

สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยส่งออกพลอย เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอเมริกา และฮ่องกง อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อได้เปรียบของประเทศไทยที่เป็นทั้งผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับส่งออก และเป็นผู้ค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญในระดับโลก จึงมีศักยภาพสำหรับการเป็นศูนย์กลาง (Hub) ตลาดพลอยของภูมิภาคและของโลก เมื่อเทียบกับอีก 2 ประเทศที่พื้นฐานก็คือ การซื้อมา-ขายไป (Trader) แต่ไม่ใช่เป็นผู้ผลิต (Manufacturing)

อย่างไรก็ตาม หากมองในเชิงปริมาณการส่งออกและมูลค่าการส่งออกแล้ว ยังไม่สอดคล้องกัน เพราะการส่งออกหลัก ๆ ยังทำในรูป OEM โดยเราเป็นซัพพลายเออร์ ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตนาฬิกาแบรนด์เนม ต้องการพลอยฝังหน้าปัด ฝังตัวเรือน ทางร้านเครื่องประดับจากเมืองนอก จะซื้อเป็นวัตถุดิบซึ่งเป็นพลอยที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแล้ว (Finished goods) จากประเทศไทย เพื่อไปประกอบตัวเรือน เป็นต้น ดังนั้น หากไทยสามารถสร้างแบรนด์ (Branding) ที่แข็งแกร่ง จะเพิ่มโอกาสการเป็นศูนย์กลางค้าขายอัญมณีชั้นนำระดับโลก รวมทั้งดึงดูดเงินลงทุนใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมนี้เข้าประเทศ

“ปัจจุบันไทยแข็งแกร่งเฉพาะในส่วนของ Corporate Brand ต่างชาติรู้ว่าบริษัทไหน/โรงงานไหนมีความโดดเด่นเรื่องคุณภาพและการออกแบบ ก็จะเข้ามาว่าจ้างและเซ็นสัญญาความลับทางการค้า ขณะที่ ในอุตสาหกรรมนี้ บ้านเรามีร้านขาย/ทำเครื่องประดับ ร้านซ่อมเครื่องประดับจำนวนมาก ลูกค้ามีแบบมาก็มาสั่งทำได้หมด แต่กรณีที่เป็นรายใหญ่ระดับโลก จ้างทำเสร็จ ก็นำไปขายได้ในราคาที่บวกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการไทยมีการทำแบรนดิ้งที่แข็งแกร่ง สร้างคาแรคเตอร์และพัฒนาความเป็น uniqueness ในแต่ละแบรนด์ ควบคู่กับภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในเรื่องตอกย้ำความเข้มแข็งด้านกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพื่อลดข้อกังวลในเรื่องการลอกเลียนแบบ (ดีไซน์) ของสินค้า ถ้ามีการแก้โจทย์เหล่านี้ได้ ก็เชื่อว่าจะมีคนที่กล้าเข้ามาลงทุนสร้างเป็นแบรนด์เครื่องประดับ/อัญมณี เพื่อการส่งออกอย่างจริงจังเพิ่มขึ้น”

สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ

ล่าสุด ทางสถาบันฯ ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม GIT Jewelry Design Gallery  ซึ่งจะเป็นทั้งชุมชนนักออกแบบเครื่องประดับไทย และเป็น  Marketplace สนับสนุนเอสเอ็มอีที่อยู่ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยรวบรวมนักออกแบบ และงานออกแบบของแต่ละราย เพื่อเป็นช่องทางการขายงานออกแบบเหล่านี้ ทางด้านกลุ่มผู้ซื้อ จะครอบคลุมทั้งตัวนักออกแบบเอง ร้านเครื่องประดับ ผู้ค้า ตลอดจนคนทั่วไปที่อยากได้เครื่องประดับที่เป็นดีไซน์เฉพาะตัว  

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่เปิดตัวแพลตฟอร์มนี้ เพื่อสร้างเอสเอ็มอี ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพราะเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณในการจ้างนักออกแบบ ทำให้โอกาสการทำธุรกิจจำกัดอยู่แค่เพียงการทำ OEM ให้ลูกค้า แต่ถ้าผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้มีแบบ (Design) นำเสนอลูกค้า ก็จะสามารถขยับราคาการจ้างงานได้สูงขึ้น รวมทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขาย หรืออาจเข้ามาจ้างนักออกแบบรายที่ลูกค้าสนใจเป็นรายโครงการ (by Project) 

ทั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการต่อยอดจากโครงการส่งเสริมด้านการออกแบบเครื่องประดับซึ่ง GIT สนับสนุนการจัดประกวดการออกแบบนานาชาติในโครงการ GIT World's Jewelry Design Awards อย่างต่อเนื่องมาถึงปีที่ 18 แล้ว ทุกปีมีการส่งแบบเข้ามาประกวดจากทั่วโลก ปีที่ผ่านมาก็กว่า 700 แบบ ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจะเผยแพร่บนเว็บไซต์ อยากให้ผู้ประกอบการเข้ามาดู เพราะจากประสบการณ์ในฐานะกรรมการประกวด พบว่า ผู้แข่งขันจากแต่ละประเทศ/ภูมิภาค เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง จะมีจุดร่วมด้านการออกแบบบางส่วน ดังนั้น หากผู้ประกอบการเข้ามาศึกษาจากผลงานเหล่านี้ ก็จะได้ไอเดียในการออกแบบเพื่อเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแต่ละประเทศได้ตอบโจทย์ตรงยิ่งขึ้น

info-economy-gem-jewelry-industry-export.jpg

ด้านภูเก็ต คุณประภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจมส์บุรี จำกัด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ GIT กล่าวว่า ความโดดเด่นของประเทศไทยในตลาดอัญมณีโลกก็คือ มีครบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีวัตถุดิบหลากหลายตอบโจทย์สำหรับการออกแบบเครื่องประดับ แม้ว่าจะประมาณ 95% จะเป็นพลอยนำเข้าเพราะแหล่งในประเทศเริ่มขาดแคลน แต่ไทยก็เป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการเจียระไนพลอย เพราะมีแรงงานช่างฝีมือที่มีทักษะ อีกทั้งมีจุดแข็งด้านการออกแบบ ผู้ประกอบการจากทั่วโลกจึงเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะที่นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี เจมโมโปลิส (Gemopolis Industrial Estate) 

ปัจจุบัน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังมองถึงเป้าหมายขยับสู่การเป็น Trading Base ดึงดูดใจให้คนเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานในการค้าขายอัญมณี อย่างไรก็ตาม รัฐต้องมีมาตรการจูงใจในการลงทุนที่ครอบคลุมมาถึงผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยด้วย ดึงดูดใจให้แตกไลน์ธุรกิจจากทองคำ หรือเพชร เพื่อมาทำเรื่องการซื้อ/ขายอัญมณีที่เป็นพลอยสีเพิ่มเติม

“ตลาดเป้าหมายที่น่าจับตามองอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเคยเติบโตอย่างมากก่อนช่วงโควิด สร้างรายได้ให้กับร้านอัญมณีและเครื่องประดับจำนวนมากในเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต ดังนั้น ปีนี้น่าจะเป็นโอกาสดีในการดึงกำลังซื้อกลุ่มนี้กลับมา”

ภูเก็ต คุณประภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจมส์บุรี จำกัด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์