‘คนเดินพลอย’ อาชีพเก่าแก่บนถนนอัญมณี

18 ก.พ. 2567 - 04:48

  • เปิดตลาดทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์

  • คนซื้อ(จากทั่วโลก)นั่งรอที่โต๊ะ คนขายเดินมาหาเอง

  • ‘ตลาดพลอย’ จันทบุรี คนซื้อนั่งรอ- เงินสะพัด 300 ล./วัน

Economy-Get-to-know-the-profession-People-walking-around-SPACEBAR-Hero.jpg

ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ถ้านักท่องเที่ยวเดินจากชุมชนริมน้ำจันทบูร จุดท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดจันทบุรี ทะลุซอยแคบๆ เข้ามาที่ “ตรอกกระจ่าง” ที่เชื่อมต่อกับบริเวณถนนศรีจันทร์ ก็จะได้พบกับความตื่นตาตื่นใจกับบรรยากาศความคักคักของ ‘ตลาดพลอย’ จันทบุรี แหล่งรวมผู้ซื้อ ผู้ขายอัญมณีจากทุกมุมโลก แม้จะเปิดทำการแค่สัปดาห์ละ 3 วัน แต่สามารถสร้างเงินสะพัดจากมูลค่าการซื้อขายแต่ละวันได้สูงถึง 200-300 ล้านบาท ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ถูกเรียกว่าเป็น ‘ถนนอัญมณี’ 

ความน่าสนใจของที่นี่คือ ตลาดนี้ไม่ต้องตกแต่งสวยงาม ไม่ต้องติดแอร์ (แม้จะเป็นตลาดซื้อ-ขายสินค้าหรูอย่างอัญมณี) เมื่อตลาดเปิดทำการ เราจะเห็นภาพโต๊ะวางเรียงรายกันอยู่สองฟากฝั่งถนนเล็กๆ ค่าเช่าโต๊ะเฉลี่ยรายวันๆ ละ 200 บาท/โต๊ะ และที่เห็น ‘นั่งเฉยๆ’ ตามโต๊ะแต่ละตัวก็คือ ‘คนซื้อ” ซึ่งมาจากหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน แขกขาว จีน บนโต๊ะจะแปะกระดาษพื้นขาวไว้ 1 แผ่น หรือบางโต๊ะวางไวท์บอร์ดเล็กๆ เขียนรายการ ‘พลอย’ ที่ต้องการซื้อ และจำนวนกะรัต เช่น พลอยแดง พลอยน้ำเงิน (ไซส์ใหญ่) ทัวร์มาลีนสวยๆ (พลอยเนื้ออ่อน มีมีหลากสี เน้นสีสันสวยงาม ราคาไม่สูง) เป็นต้น เมื่อซื้อได้ครบตามนั้น ก็หยุดการซื้อวันนั้น 

ขณะที่ ริมถนนเต็มพื้นที่ไปด้วยโต๊ะคน(รอ)ซื้อพลอย ไม่ต่ำกว่า 200 โต๊ะ ทั้งนี้ไม่นับรวมส่วนที่อยู่ภายในส่วนที่เป็นอาคารพาณิชย์ซึ่งเจ้าของติดตั้งแอร์อำนวยความสะดวก และเปิดให้เช่าโต๊ะเป็นรายเดือน/รายปี รวมๆ แล้วอีกกว่า 100 โต๊ะ เมื่อมองไปบนท้องถนนเล็กๆ แห่งนี้ ก็จะคับคั่งไปด้วย ‘คนขาย’ ซึ่งมีศัพท์เรียกเฉพาะที่นี่ว่า ‘คนเดินพลอย’ ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่จันทบุรี ที่รู้จักกับโรงงานพลอย หรือบริษัทอัญมณี ได้รับความไว้วางใจให้นำพลอย ออกมาหาลูกค้าใหม่ๆ ในตลาดนี้ โดยจะได้ส่วนแบ่งอยู่ที่ 1% ของยอดขาย 

นอกจากนี้ ยังมี ‘คนขาย’ ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแอฟริกา แหล่งเหมืองอัญมณีระดับโลก ที่เดินทางนำพลอยดิบ (หรือที่เรียกกันว่า ‘พลอยก้อน’) มาขายโดยตรงให้กับผู้ซื้อ ซึ่งคนที่คุ้นเคยกับตลาดพลอย จันทบุรี จะแยกออกเลยว่า ถ้าเห็นเป็นคนผิวสี กลุ่มนี้ไม่ใช่คนซื้อ แต่เป็นคนขายเหมือนกัน และเน้นขายพลอยดิบ ขณะที่ ถ้าเป็นคนเดินพลอยทั่วไป จะขายพลอยที่เจียระไนแล้ว เดินไปตามโต๊ะที่แปะป้ายไว้ โดยแต่ละห่อที่พกพามาจะมีพลอยแต่ละประเภท แต่ละขนาดอยู่หลายสิบเม็ด 

ถ้าคนซื้อสนใจพลอยที่ ‘คนเดินพลอย (โบรกเกอร์)’ นำมาเสนอขาย แล้วต้องการต่อรองราคา คนซื้อก็จะเอากระดาษทิชชู่ห่อซองพลอยนั้นติดสก็อตเทปแล้วทำเครื่องหมายบนห่อ เรียกว่า ‘การพันกา’  เพื่อป้องกันการเปลี่ยนพลอยในห่อ หรือแก้ไขตัวเลขราคา จากนั้นคนเดินพลอย ก็นำพลอยห่อนั้นกลับไปถามเจ้าของพลอยว่าขายราคาที่คนซื้อเสนอมาได้ไหม หากตกลงซื้อขายกัน กรณีที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด ทางคนซื้อและเจ้าของพลอย (โรงงาน/บริษัทผู้ค้าพลอย) ก็จะตกลงเงื่อนไขการชำระเงินกันโดยตรง ซึ่งบางรายที่ไว้เนื้อเชื่อใจกันอยู่แล้ว ก็อาจมีการให้ credit term ระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ‘คนเดินพลอย’ จะได้รับเงินส่วนแบ่ง 1% จากยอดขายครั้งนี้ทันที เพราะถือว่าการซื้อ-ขายเสร็จสมบูรณ์แล้ว

281892.jpg
Photo: บรรยากาศการซื้อขายพลอยที่เต็มไปด้วย คนขายพลอย ถนนอัญมณี จ.จันทบุรี

‘อ๊อ’ หนึ่งในคนที่ทำอาชีพเสริมเป็น ‘คนเดินพลอย’ ที่ตลาดพลอยแห่งนี้มาประมาณ 10 ปี เล่าว่า ผู้ที่จะเข้ามาทำอาชีพนี้ได้ ต้องเป็นคนในพื้นที่ รู้จักคุ้นเคยกับโรงงานพลอยในจันทบุรี หรือมีญาติทำงานด้านนี้อยู่แล้ว อย่างตัวเขาเอง ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ก็เป็นช่างเจียระไนพลอย ต่อมาก็เป็นเถ้าแก่สร้างธุรกิจครอบครัวเป็นคนค้าขายอัญมณี จึงคลุกคลีอยู่ในธุรกิจนี้ตั้งแต่เด็ก รู้จักคุ้นเคยกับแหล่งพลอยดีๆ ได้รับความเชื่อใจจากโรงงานพลอย

ผมทำเป็นอาชีพเสริมเฉพาะเมื่อมีเวลาว่าง ไม่ได้ทำทุกสัปดาห์ ถือว่าสร้างรายได้เสริมอย่างดี เพราะแม้ส่วนแบ่งจะแค่ 1% จากยอดขาย แต่การซื้อขายแต่ละครั้งไม่ได้แค่หลักหมื่น แต่เป็นหลักแสน หรือบางวันอาจเป็นหลักล้านบาท เท่ากับวันนั้นมีรายได้เป็นหมื่นบาท นี่คือเหตุผลว่า ทำไมมีคนสนใจทำอาชีพนี้เยอะ อาจเป็นคนเจียระไนพลอย คนทำสวน คนค้าขาย แม้กระทั่งนักเรียน แต่ย้ำว่าสำคัญที่สุดคือ โรงงานต้องไว้ใจคุณ

อ๊อ คนเดินพลอย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในตลาดพลอย ว่าท่ามกลางความคึกคักเพราะ ‘จันทบุรี’ เป็นที่รู้จักของทั่วโลกว่า ที่นี่มีพลอยคุณภาพดี พลอยสวย ราคาไม่สูง จึงมีจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายเพิ่มขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง ทำให้การขายก็ต้องแข่งขันกันมากขึ้น เพราะคนขายจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ ทางฝั่งคนซื้อ ระยะหลังๆ กลุ่มผู้ซื้อที่มาจากประเทศจีนมาแรงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เข้ามาจับธุรกิจอัญมณี หลายรายใช้วิธีการจับกลุ่มกัน 20-30 ราย ‘ฮั้ว’ ราคารับซื้อ จึงเริ่มเห็นการกดราคาซื้อ ส่งผลกระทบให้คนเดินพลอยมีรายได้ลดลง ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ขายที่เป็นรายเล็กๆ หรือโรงงานขนาดเล็ก สายป่านไม่ยาว ต้องใช้เงินหมุนในการทำธุรกิจ ก็จะถูกกดดันให้ต้องยอมขาย เพื่อในธุรกิจนี้ โรงงานจะต้องจ่ายค่าจ้างพนักงาน/คนเจียระไนพลอยทุกสัปดาห์ ส่วนถ้าเป็นโรงงานหรือผู้ค้ารายใหญ่ ก็สามารถเก็บของไว้ก่อนไม่จำเป็นต้องรีบปล่อยขาย

ตอนนี้ ผมเริ่มปรับตัวจากการไปเดินขายตามโต๊ะ มาเป็นการหาซื้อพลอยสวยๆ มาขายให้กับคนที่ต้องการนำไปทำเครื่องประดับ เพราะจะได้ราคาดีกว่า เราขายให้กับทางร้านหรือทางคนทำเครื่องประดับโดยตรง ซึ่งส่วนหนึ่งก็รู้จักมาจากในตลาดพลอยอยู่แล้ว เป็นการยกระดับการขายพลอยที่เพิ่มมูลค่า ผมเลือกเจาะกลุ่มคนที่มีความต้องการจริงๆ มีกำลังซื้อเยอะ เรารู้แหล่ง รู้จักโรงงานอยู่แล้ว

อ๊อ คนเดินพลอย

281897.jpg

นอกเหนือจากการบรรยากาศการซื้อขายพลอยของบรรดานายหน้าและพ่อค้าพลอยที่เดินทางมาจากที่ต่างๆ แล้ว ถนนอัญมณี ยังเป็นที่ตั้งของร้านเจียระไนพลอยและร้านค้าอัญมณีต่างๆ ร้านทองรูปพรรณ มากกว่า 120 ร้าน ดังนั้น ใครสนใจอัญมณีและเครื่องประดับสวยๆ เพราะทุกวันนี้ ‘จันทบุรี’ ได้รับการปักหมุดว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอัญมณีลำดับต้นๆ แห่งหนึ่งของโลก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์