โต้งผงาดนำ ‘ดรีมทีม’ ทีมที่ปรึกษานายกฯ เศรษฐา

15 ก.ย. 2566 - 08:21

  • จากความไว้วางใจ สู่การแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

  • เจาะลึกความสัมพันธ์ทีมที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

economy_government_thailand_SPACEBAR_Hero_bc2dd91d43.jpeg
คำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีล่าสุด อาจจะเป็นบทพิสูจน์แรก ที่แสดงให้เห็นว่า นายกฯเศรษฐา ก็ไม่ได้เป็นคนที่จะยอมเป็นเพียงแค่ เครื่องไม้ เครื่องมือ หรือ เป็นเพียงแค่อีกกลไกทางการเมืองหนึ่ง ของทักษิณ และคนในตระกูลชินวัตร ที่ถูกจับมาวางในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้มีอำนาจเต็มไม่เต็มมือ หรือ เป็นเพียงตำแหน่ง นายกฯ ประทับตรายาง อย่างที่หลายคนปรามาส  

การเข้ามาของนายกฯ เศรษฐา ในฐานะคนนอก ย่อมเป็นความเสี่ยงที่คงไม่มีใครมีบทสุดท้ายที่ต้องปิดฉากลงเหมือนอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ในอดีตอย่างแน่นอน  

ถึงแม้นายกฯ เศรษฐา จำเป็นต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงทางการเมืองในแบบไทย ๆ ที่ต้องยอมปล่อยให้ตำแหน่งข้าราชการเมือง ไม่ว่าจะเป็น คณะรัฐมนตรี และบรรดาเลขาฯ และผู้ช่วยรัฐมนตรีจัดสรรกันไปตามวิถีการเมืองแบบเก่าที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง  

แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมี ทีมงานสักชุดหนึ่งที่จะทำหน้าที่เสมือน Think Tank และกระชับอำนาจเข้ามาไว้ในมือบ้าง จึงเป็นที่มาของ ที่ปรึกษาชุด ‘ดรีมทีม’ ชุดนี้  ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566  เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา13 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2543 

นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิดังต่อไปนี้ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา และพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ประกอบด้วย 
  1. กิตติรัตน์ ณ ระนอง                              ประธานที่ปรึกษา 
  2. เทวัญ ลิปตพัลลภ                                 ที่ปรึกษา 
  3. พิชัย ชุณหวชิร                                     ที่ปรึกษา 
  4. ศุภนิจ จัยวัฒน์                                     ที่ปรึกษา 
  5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิมล ศรีวิกรม์     ที่ปรึกษา  
  6. พิชิต ชื่นบาน                                        ที่ปรึกษา 
  7. ชลธิศ สุรัสวดี                                       ที่ปรึกษา 
  8. ชัย วัชรงค์                                            ที่ปรึกษา 
  9. สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์                              ที่ปรึกษา
หากพิจารณาจาก 9 รายชื่อแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นายกฯ เศรษฐา ได้ให้ความไว้วางใจกับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง หรือ ‘พี่โต้ง’ พี่ชายแสนดีที่ว่ากันว่า เป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด ที่ทำให้ เศรษฐา ตัดสินใจมาลงเล่นการเมืองในเสื้อคลุมของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างมาก   

ความสัมพันธ์ของคน 2 คนนี้ มีมาอย่างยาวนาน ในหลากหลายบทบาท ตั้งแต่แวดวงธุรกิจ การเมือง ไปจนถึงวงการกีฬา ที่อาจจะกล่าวได้ว่า พี่โต้ง คือ คนที่นายกฯ เศรษฐา ไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง 

ขณะเดียวกัน การมานั่งในตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ของกิตติรัตน์ ก็ดูจะเป็นบทบาทที่ลงตัวจากประสบการณ์ในอดีต ทั้งในวงการธุรกิจ และการเมืองของตัวเขาเอง 

กิตติรัตน์ เป็นอดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่ง และเป็นคนที่นำตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ก้าวสู่ยุคใหม่ในช่วงปี 2549-2551 

หลังจากที่หันมาลงสู่สนามทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย ก็เคยมีตำแหน่งเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรมว.กระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลาต่อมา ก่อนที่จะถูกยึดอำนาจในปี  2557   

ประสบการณ์ของ กิตติรัตน์ จึงเหมาะยังมากที่จะมานั่งในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาให้กับ นายกฯ เศรษฐา ที่มีหมวกอีกใบ ในฐานะ รมว.ว่าการกระทรวงการคลัง ในยุคที่พรรคเพื่อไทยมุ่งที่จะเน้นให้ความสำคัญกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ ด้วยการใช้มาตรการคลังเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะโจทย์หินในการผลักดันนโยบาย Digital Wallet หมื่นบาท ที่ต้องใช้เม็ดเงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท และยังมีประเด็นปัญหาอีกหลายอย่างที่ต้องไปปลดล็อค ทั้งในเรื่องของเทคนิค และกฎหมาย  

หากไม่นับ เทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า น้องชายของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่น่าจะมาจากโควตาในฐานะพรรคร่วม ที่จัดสรรตำแหน่งให้แล้วที่ปรึกษาคนอื่น ๆ หากดูรายชื่อแล้วก็ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่เป็นคนที่ นายกฯ เศรษฐา ชี้ตัวและเลือกมาเป็นทีมงานเอง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสายสัมพันธ์ในอดีต  

ศุภนิจ จัยวัฒน์ ประธานกรรมการบริษัท อาโนส์ กรุ๊ป 2020 จำกัด เป็นเพื่อนสนิทกับนายเศรษฐา ผู้อยู่เคียงข้าง เติบโตด้วยกันมาตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งเป็นนักธุรกิจ และยังเป็นเพื่อนที่ ‘เศรษฐา’ ให้ความรักที่สุดคนหนึ่ง 

ศุภนิจ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรมสไตล์บูติก คือ โรงแรมสีลม ศิรีนทร์ โรงแรมโพธิ ศิรีนทร์ จ.เชียงใหม่ และโรงแรมบ้านบาหยัน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์  

อีกคนคือ สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ปรากฎในรายชื่อสส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 78  

พิมล ศรีวิกรม์ ที่มีชื่อเป็นหนึ่งในกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติอีกด้วย ที่น่าจะเข้ามาช่วยในด้านสายสัมพันธ์กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยว และกีฬา  

แต่ที่น่าสังเกตก็คือ หลายคนก็ดูเหมือนอาจจะมีจุดเชื่อมโยงและดูอาจจะมาจากสายของ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็น พิชัย ชุณหวชิร อดีตกรรมการบริษัทในกิจการพลังงานหลายแห่งทั้งในไทยออยล์ บางจากปิโตเลียม และปตท. ช่วงระหว่างปี 2539-2552 เคยดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ธปท. เป็นหนึ่งในพยานปากเอก จำนวน 7 ปากคดีโครงการทุจริตรับจำนำข้าว 

อีกคนคือ พิชิต ชื่นบาน ซึ่งก่อนหน้านี้มีชื่อติดโผ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลเศรษฐา ที่เป็นหัวหน้าทีมทนายความครอบครัวชินวัตร และหลังจากรัฐประหารปี 2557 ก็ช่วยต่อสู้ในคดีจำนำข้าว ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความ 

ส่วนนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ นอกจากดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแล้วยังเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย นายสัตวแพทย์ชัย หรือหมอชัย เป็นนักวิชาการด้านการเกษตรสมัยใหม่ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเกษตร พรรคเพื่อไทย เป้าหมายสำคัญคือเพื่อผลักดันนโยบายยกระดับภาคเกษตรก้าวหน้า หลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางเป็นผู้สมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 91

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์