เพิ่มเพดานภาษีนำเข้า คนไทย เตรียมซื้อของแพงขึ้น

25 กุมภาพันธ์ 2567 - 06:10

Economy-Increase-the-import-tax-ceiling-Thai- people-prepare-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เก็บแวตสินค้านำเข้าออนไลน์ เกิดผลดี ช่วยผู้ประกอบการไทย เสมอภาคขึ้น

  • คนไทย เตรียมซื้อของแพงขึ้น หากสินค้าออนไลน์ราคาต่ำกว่า 1,500 บาทถูกเก็บแวต

  • แนะรัฐบาล ควบคุมดูแลแพลตฟอร์มรอบด้าน มีกฎกติกา ลดการผูกขาด

กรณีที่กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทต่อกล่องพัสดุ โดยมีเบื้องต้นจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% สำหรับสินค้าที่สั่งจากต่างประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านภาษี แต่อย่างไรก็ตาม หากจะต้องจัดเก็บภาษีแวตสำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท กรมสรรพากรจะต้องปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีแวตได้  

ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com เว็บไซต์ E-Commerce สัญชาติไทย ให้สัมภาษณ์ SPACEBAR ถึงประเด็นนี้ว่า หากรัฐบาลสามารถแก้กฎหมายเพื่อเปลี่ยนให้สามารถเก็บแวต 7 % สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีมูลค่า 1,500 บาท จะมีทั้งผลดีและผลเสียตามมา แต่ในเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่า  

โดยผลดี เมื่อมีกฎหมายใหม่ตัวนี้ขึ้นมา จะทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติต้องเข้ามาอยู่ในระบบ อยู่ในเงื่อนไขเดียวกันกับผู้ประกอบการไทย ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างแต้มต่อความสามารถด้านการแข่งขันให้กับสินค้าไทย  แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทย ก็ต้องปรับตัวสู้กับการแข่งขันในกติกาใหม่นี้ด้วย

ป้อม ภาวุธ.jpg

เมื่อจีนเห็นว่ารัฐบาลมีกฎหมายตัวนี้ขึ้นมา เขาจะเริ่มเข้ามาอย่างถูกต้อง มันจะเข้ามาแข่งขันในเกมเดียวกัน และเขามีความไว เขามีความอึด เขามีความตั้งใจมาก ตรงนี้จะทำให้คนไทย ถ้าไม่ปรับตัวจะอยู่รอดได้ยาก เหมือนกัน

ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com เว็บไซต์ E-Commerce สัญชาติไทย

ส่วนผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นคือ การเพิ่มภาษีแวตสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาทต่อชิ้น สำหรับสินค้าออนไลน์ที่นำเข้าไทย ก็จะทำให้ คนธรรมดา ที่สั่งสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้นด้วย  

ป้อม ภาวุธ เสริมว่า ปัจจุบันคนไทย 50 ล้านคน อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้รูปแบบการค้าขายเปลี่ยนไปมาก เกิดการผูกขาดของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างชาติ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ และ ติ๊กต๊อก 

สำหรับรูปแบบการส่งสินค้าไม่จำเป็นต้องสต็อกในประเทศไทย แต่ใช้วิธีลิสต์รายการสินค้าในไทย จากนั้นเมื่อผู้มีคนสั่งออเดอร์ก็จะส่งไปยังประเทศจีน และส่งสินค้านำเข้ามาในไทย ซึ่งการไหลบ่าเข้ามาของสินค้ารูปแบบนี้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยให้ปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก 

โดยการแข่งขันของ ผู้เล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซ ถือเป็นเกมยาว ผู้เล่นรายใดมีเงินมากกว่า มีสายป่านยาวกว่าก็ได้เปรียบ ดังนั้น เพื่อไม่ให้การผูกขาดรุนแรงและส่งผลกระทบหนักกว่าเดิม รัฐบาลต้องพยายามเข้าไปควบคุม วางกรอบระเบียบให้ชัดเจน เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภคชาวไทย

379534670_10163326431512178_4246052171691040528_n.jpg
Photo: ที่มาเฟซบุ๊ก : Pawoot Pom Pongvitayapanu

ล่าสุดตอนนี้ ลาซาด้า ช้อปปี้ ติ๊กต๊อก ขึ้นราคาค่าบริการ โดยที่ไม่มีใครไปควบคุม ฉะนั้น ตอนนี้เรากำลังอยู่ในมือของเขาหมดแล้ว ฉะนั้น จะสู้ยังไง อย่างแรก คือ รัฐต้องเข้าไปควบคุม แล้วต้องเขาไปดูว่า บางอย่าง ถ้าอยากจะขึ้นราคาไม่ได้ เหมือนคุณไปเดินตามห้าง คุณยังควบคุมสินค้าในห้างเลย แล้ว ทำไม คุณไม่ควบคุมค่าบริการเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน ?

ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com เว็บไซต์ E-Commerce สัญชาติไทย

ทีมข่าวตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าก่อนหน้านี้ 1 เม.ย. 66 ทาง ลาซาด้า และช้อปปี้ เพิ่มการเก็บค่าธรรมเนียมในการขายของออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม ขึ้นราคา 50-180 % และ 15 ต.ค.66 ทาง ช้อปปี้ ขึ้นราคาค่าธรรมเนียมอีกครั้ง รวมเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 150 % ในการปรับขึ้นราคา 2 ครั้ง   

ขณะที่ แพลตฟอร์ม ติ๊กต๊อก ปรับค่าธรรมเนียมสินค้า จากเดิม 3% โดย 15 มี.ค. 67 จะปรับอัตราค่าธรรมเนียมเป็น 3.21 % หรือขึ้นมา 0.21 %

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์