รมว.อุตฯ ล่องใต้ ลงชุมพร ฟังปัญหาผู้ประกอบการ

22 ม.ค. 2567 - 06:07

  • ‘พิมพ์ภัทรา’ นำคณะล่องใต้ เยี่ยมชม-ให้กำลังใจ-รับฟังปัญหาผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

  • ปักหมุด ‘ชุมพร’ เป็นจังหวัดแรก เยี่ยม 2 ผู้ประกอบการ ‘น้ำมันปาล์ม-กาแฟ’

economy-industry-andaman-chumphon-oil-palm-coffee-business-SPACEBAR-Hero.jpg

ช่วงนี้ ภาคใต้ต้อนรับรัฐมนตรีมากหน่อย หลังขณะนี้มีการประชุม ครม.สัญจร ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 22-23 มกราคม 2567 อีก 1 โอกาสของผู้ประกอบการ ที่จะได้สะท้อนหลากประเด็นที่เป็นปัญหา

โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผย พร้อมรับฟังหลากแง่มุม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้อย่างทั่วถึง โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในด้านการเพิ่มผลผลิต การดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชน การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง 

ทั้งนี้ จังหวัดชุมพร ถือเป็นจังหวัดแรก ที่รัฐมนตรีว่าการฯ ‘พิมพ์ภัทรา’ เข้าเยี่ยมและพูดคุยผู้ประกอบการ 2 ราย

economy-industry-andaman-chumphon-oil-palm-coffee-business-SPACEBAR-Photo01.jpg

โดยจุดแรก ที่ บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ชี้ ปี 2567 กระทรวงฯ เตรียมที่จะส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครบวงจรอย่างยั่งยืน ตามแนวนโยบาย MIND อุตสาหกรรมวิถีใหม่ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบการอื่นในพื้นที่ พร้อมจะเพิ่มมูลค่า by product จากการสกัดและแยกไขสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล (Oleochemical) สนับสนุนเงินทุนหรือขยายเวลาเรื่องการติดตั้งระบบ CEMs และระบบดักฝุ่น (ESP) ของหม้อน้ำ

economy-industry-andaman-chumphon-oil-palm-coffee-business-SPACEBAR-Photo02.jpg

จุดที่ 2 ที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง ดูมาตรฐานสินค้าของวิสาหกิจชุมชนฯ ซึ่งล้วนผ่านการรับรองมาตรฐานสาธารณสุข อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ทั้งสิ้น ทั้งยังร่วมโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (OPOAI -C) ประจำปีงบประมาณ 2566 ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกอมกาแฟ มูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 23,600 บาทต่อปี

economy-industry-andaman-chumphon-oil-palm-coffee-business-SPACEBAR-Photo03.jpg

ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ เตรียมที่จะเข้าไปให้การส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนฯ ในด้านต่างๆ อาทิ พัฒนากระบวนการผลิต เช่น การปรับปรุงอาคารล้าง การขยายขนาดเครื่องอบร้อน เป็นต้น หรือการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่งเสริมการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ลูกอมกาแฟ และส่งเสริมการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ต่อไป

รมว.อุตสาหกรรม ยังชี้ถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการร้องขอ ว่า เป็นเรื่องของปัจจัยการผลิตในพื้นที่ไม่เพียงพอ ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องบางฉบับไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วยังถูกมองว่าเป็นขยะ ผู้ประกอบการขาดแหล่งเงินทุนหมุนเวียน และระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการในพื้นที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งรับเรื่องมาพิจารณา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาให้ตรงจุดต่อไป

“ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ถือได้ว่าเป็นสถานประกอบการที่มีประสิทธิภาพสูง ได้รับการยอมรับและ การรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดได้เป็นอย่างดี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนตามการร้องขอของผู้ประกอบการ เพื่อให้การพัฒนาธุรกิจมุ่งไปสู่เป้าหมายที่กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าไว้ คือ การเพิ่มผลผลิต การดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชน การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง ขณะที่ปัญหาอุปสรรคต่างๆ นั้น ดิฉันขอรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการให้เรียบร้อย และแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ หรือเกิดการสะดุดในระหว่างประกอบกิจการได้”

รมว. พิมพ์ภัทรา กล่าว

economy-industry-andaman-chumphon-oil-palm-coffee-business-SPACEBAR-Photo04.jpg

ทั้งนี้ จังหวัดชุมพร มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP : Gross Provincial Product) 130,074 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 22 ของประเทศ และลำดับ 4 ของภาคใต้ รองจากจังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีรายได้ GPP (GPP Per Capital) ต่อคนมูลค่า 259,853 บาทต่อคนต่อปี อยู่ในลำดับที่ 11 ของประเทศ และลำดับที่ 1 ของภาคใต้ โดยมีภาคธุรกิจหลักๆ คือ 
- อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว ร้อยละ 35.64  มูลค่า 46,362 ล้านบาท 
- ภาคการเกษตรกรรม ร้อยละ 56.75 มูลค่า73,812 ล้านบาท และ
- ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 7.61 มูลค่า 9,899 ล้านบาท 
- มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ยางพารา มะพร้าว และกาแฟ เป็นต้น

“จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหลายด้าน ซึ่งหากมีการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเหมาะสม จะช่วยให้จังหวัดชุมพรสามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้”

รมว. พิมพ์ภัทรา กล่าว

economy-industry-andaman-chumphon-oil-palm-coffee-business-SPACEBAR-Photo05.jpg
economy-industry-andaman-chumphon-oil-palm-coffee-business-SPACEBAR-Photo06.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์