JKN ตกขอบจักรวาล เข้าแผนฟื้นฟูกิจการก็ไม่รอด

9 พ.ย. 2566 - 08:38

  • ทำเรื่องขอฟื้นฟูกิจการ พร้อมกับเดินทางไปต่างประเทศทันที

  • ราคาหุ้นขานรับข่าวร้ายร่วงลงทันที เหลือหุ้นละ 0.77 บาท

  • ก่อนหน้านี้ เร่ขายทรัพย์สินแปลงเป็นเงิน และคุยกับ 2 นายทุนใหญ่ แต่ดีลไม่สำเร็จ

economy-jkn-set-cnbc-topnews-stock-market-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจากตกอยู่ในอาการไม่สู้ดีมานาน ในที่สุด เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป ของหญิงข้ามเพศคนดัง แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ก็เดินทางมาถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้ และต้องยอม “ยกธงขาว” ปล่อยให้จักรวาลล่มไปต่อหน้า ต่อตา

เลือกแนวทางในการยื่นคำร้องเพื่อจอฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยเพิ่งยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลางไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

ตามรายละเอียดที่แจ้งต่อ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช้าวันนี้ ( 9 พ.ย. 2566) นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN แจ้งให้ทราบว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทําแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม)โดย ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566  บริษัทได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทเรียบร้อยแล้ว

ตามคำร้องสรุปสาระสําคัญของคําร้องฟื้นฟูกิจการ เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน)ในฐานะลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และขอเสนอเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูเสนอต่อเจ้าหนี้ 

ทั้งนี้แนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น ประกอบด้วย 

  1. การปรับโครงสร้างกิจการและโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับสมมติฐานทางการเงิน และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนแก้ไขปัญหาของกิจการในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในองค์กร
  2. การขยายระยะเวลาการชําระหนี้ การผ่อนผันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างรายรับจากการประกอบกิจการและนํามาจัดสรรชําระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วน และบริษัทยังคงดําเนินกิจการต่อไปได้
  3. การได้รับเงินสนับสนุนทางด้านการเงินจากแหล่งเงินทุน โดยได้รับจากผู้ลงทุนรายใหม่ หรือ สถาบันการเงินเพื่อเป็นการหมุนเวียนในกิจการของบริษัท
  4. การจัดหาแนวทางการดําเนินการขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนําเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวมาชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
  5. การจัดเตรียมแผนงาน และกลยุทธิ์ ในการบริหารสภาพคล่องของบริษัท และการปรับปรุง ระบบ โครงสร้างภายในองค์กรและการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ

สำหรับการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท จะช่วยให้บริษัทแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัท โดยมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม อีกทั้ง บริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัท และเพื่อสร้างผลกําไรจากการดําเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง บริษัทจะแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อไป

ทันที่มีการแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ในวันนี้ (9 พ.ย.) ทำให้ราคาหุ้นของ JKN ปรับตัวลง ติดฟลอร์ทันที คือ ลดลง 0.32 บาท หรือ 29.36% เหลือเพียง หุ้นละ 0.77 บาท และยังไม่ชัดเจนว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายเมื่อไร

สำหรับตัว แอน จักรพงษ์ หลังจากทำเรื่องเสนอเข้าแผนฟื้นฟูเพื่อยื่นศาลล้มละลายกลาง รวมทั้งทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เสร็จก็บินด่วนยังเอลซัลวาดอร์ เพื่อไปดูการจัดการประกวดนางงามจักรวาล Miss Universe 2023 ทันที 

เปรียบมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ซื้อตั๋ว ยื่นหนังสือขอฟื้นฟู ออกเดินทางไปต่างประเทศ

เมื่อสองเดือนก่อน JKN เพิ่งประสบปัญหาสภาพคล่อง จนไม่สามารถจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้มูลค่า 600 ล้านบาท และต้องเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอยืดหนี้บางส่วนออกไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์  2567 และยังมีหุ้นกู้อีกหลายรุ่นที่กำลังจะทยอยครบกำหนดกว่า 2 พันล้านบาท ในปี 2567 เช่นกัน ที่มีการขอเจรจายืดหนี้ออกไป

ขณะเดียวกันเพื่อแก้ปัญหา แอน JKN  ได้ตัดสินใจดึงกลุ่ม TOPNews ของสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ให้เข้ามาดำเนินการในช่อง JKN 18 ปิด JKN-CNBC และช่อง Hi-Shopping 

นอกจากนี้ยังประกาศขายโรงงานน้ำดื่ม ที่ปราจีนบุรี รวมทั้ง สตูดิโอ ที่ซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง)  แต่ยังคงพยายามที่จะผลิตรายการ Home Shopping ในช่อง JKN-18 

แอน  ยังมีความพยายามที่จะรักษาอาณาจักร JKN และ องค์กรนางงามจักรวาล Miss Universe เอาไว้ให้ถึงที่สุด โดยมีการเจรจาหาผู้ร่วมทุน โดยมีการเจรจากับ กลุ่มของวิชัย ทองแตง ทนายความนักลงทุน และกลุ่มทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) ของ ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ ลูกเขยคนเล็กของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์  แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากปัญหาหนี้ที่แบกอยู่จำนวนมหาศาล

การตัดสินใจยื่นศาลล้มละลายกลาง เพื่อเข้าแผนฟื้นฟู เพื่อจัดทำแผนปรับโครงสร้างหนี้ และวางโครงสร้างทางการเงิน รวมทั้งวางแผนธุรกิจใหม่ จึงอาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้มีนักลงทุนสนใจกล้าเข้ามาร่วมทุน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์