คนวงในแบงก์ชาติ ระบุ นายกฯ อ้างผู้ว่าฯ แบงก์ชาติแนะให้ออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้

14 พ.ย. 2566 - 08:44

  • จับตาท่าที ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ หลังถูกพาดพิง เป็นคนแนะนำให้ออก พ.ร.บ.เงินกู้

  • คนวงใน ระบุ นายกฯ เศรษฐา โยนระเบิดใส่มือ

  • เลือกจับคำมาเฉพาะสิ่งที่จะเป็นบวกกับรัฐบาล

economy-money-bot-loan-digital-wallet-serttha-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจากนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์บนเครื่องบินถึงโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่กำลังถูกวิพากษ์อย่างหนักถึงความพยายามที่จะกู้เงินมา เพื่อดำเนินโครงการนี้ถึง 5 แสนล้านบาท โดยการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 

โดยส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์มีการระบุถึงเรื่องที่มาของเงินว่า ผู้ว่าแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นคนแนะนำให้ ออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้

นายกฯ อ้างว่า ผู้ว่า ธปท. ให้ความเห็นว่า ตอนนี้หนี้สาธารณะยังอยู่ที่ 61% ของ GDP หากต้องการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท อาจทำให้ระดับเหนี้ขยับขึ้นไปที่ระดับ 64% แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับเพดานหนี้สาธารณะที่ เขยิบขึ้นไปที่ระดับ 70%

หากกู้มาทำโครงการดังกล่าว บวกกับมาตรการกระตุ้นอื่นๆ ก็จะทำให้ GDP ของไทยโตขึ้น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงตาม

“แม้หนี้เพิ่มแต่ถ้า GDP โตขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะก็จะลดลง”

นายกฯ เศรษฐา พยายามจะบอกเป็นนัยว่า ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ก็เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทำให้เกิดคำถามในแวดวงนักวิชาการ และคนในวงการตลาดเงิน-ตลาดทุน ว่า นายกฯ เข้าใจสิ่งที่ ผู้ว่า ธปท.พยายามสื่อสารคลาดเคลื่อนไปหรือไม่?

เพราะหากผู้ว่าฯ ธปท.เห็นด้วยกับเรื่องนี้จริง คงไม่ขอให้มีการบันทึกความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องนี้ไว้ระหว่างการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องนี้ไว้

ต้องจับตามองท่าทีของผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ว่าจะออกมาสื่อสารในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร เพราะปกติแล้ว ธปท.จะมีมารยาทไม่ค่อยออกมาแสดงความเห็นที่อาจจะมีผลต่อการเมือง

ที่ผ่านมาคนในแวดวงเศรษฐศาสตร์ และตลาดเงิน-ตลาดทุน ต่างทราบดีว่า ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ไม่เห็นด้วยการโครงการนี้มาตั้งแต่แรก และแสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ เพราะในมุมมองของแบงก์ชาติ มองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้ดี แม้จะขยายตัวได้ต่ำ แต่ก็ค่อย ๆ ฟื้นตัว และในไตรมาสที่ 3 กำลังซื้อหรือการบริโภคภาคเอกชนก็เริ่มดีขึ้น 

สิ่งที่ขาดไป คือ การลงทุนทั้งในส่วนของภาครัฐ และเอกชน เนื่องจากมีความล่าช้าเรื่องบประมาณปี 67 ในขณะที่ภาคเอกชนก็ยังคงไม่มั่นใจในทิศทางเศรษฐกิจ จึงชะลอการลงทุน จึงควรกระตุ้นเรื่องการลงทุนมากกว่า

ที่สำคัญการแจกเงินหมื่นให้กับคนไทยถึง 50 ล้านคน โดยใช้เม็ดเงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท ก็อาจจะกระตุกให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพ ซึ่งแบงก์ชาติถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ 

การตีความคำพูดของผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ของนายกฯ เศรษฐา จึงอาจจะเป็นการตีความผิดโดยเจตนา หรือ เข้าใจคลาดเคลื่อนมากกว่า เพราะผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ต้องการจะชี้ประเด็นในเรื่องที่มาของเงินว่า หากรัฐบาลต้องการจะเดินหน้าโครงการนี้จริง ๆ ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คือ การออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เนื่องจากไม่สามารถดึงเม็ดเงินจาก งบประมาณปี 67 มาใช้ได้เพียงพอที่จะทำโครงการ ในขณะที่ทางเลือกอื่น เช่นการใช้ มาตรา 28 เพื่อยืมเงินมาจากสถาบันการเงินภาครัฐเช่น ธนาคารออมสินมาใช้ก็คงไม่ง่าย

“ระหว่างการออกเป็น พ.ร.ก. กับ พ.ร.บ. ทางเลือกในการออกเป็น พ.ร.บ.ก็ดูจะคลีนและโปร่งใสมากกว่า เพราะต้องขออนุมัติจากสภาฯ ซึ่งดีกว่าการใช้อำนาจบริหาร แล้วค่อยไปขออนุมัติจากสภาฯในภายหลัง ถ้าให้พูดตรง ๆ ก็คือ ผู้ว่าฯ ต้องการจะสื่อสารว่า หากจะดึงดันจะทำโครงการนี้จริงๆ ก็ควรไปช่องทางสภาฯในการออกเป็น พ.ร.บ. แต่ไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยกับการกู้เงินมาแจกในครั้งนี้”

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิด ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนหนึ่ง

การเสนอให้ออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ เพราะแบงก์ชาติ ต้องการให้รัฐบาลตอบคำถามสำคัญกับสภาฯให้ได้ว่า การออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เป็นไปตามมาตรา 53 หรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็น เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้แม้แต่ตัวนายกฯ เศรษฐาเองก็ยอมรับว่า ต้องอธิบายมุมมองในเรื่องนี้ให้ชัด

คำถามว่า ตอนนี้เราอยู่ในวิกฤตหรือไม่ ถ้ามีวิกฤต คือเรามี GDP ติดลบ แบบนั้นคงไม่ต้องทำ รัฐบาลเชื่อว่าเราอยู่ในวิกฤตที่ต้องการกระตุ้น แม้คนอื่นจะบอกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องใช้เงินขนาดนี้ กระตุ้นแค่คนจนที่มีรายได้ต่ำจริง ๆ ก็พอ หากเถียงกันไปอย่างนี้ก็ไม่จบ” นายกฯเศรษฐา บอกกับผู้สื่อข่าวเอาไว้ในตอนท้ายการสัมภาษณ์

โจทย์ยากที่สุดของรัฐบาล ตอนนี้จึงกลับมาที่ คำตอบของคำถามว่า เศรษฐกิจไทย อยู่ในภาวะวิกฤต ถึงขนาดที่ต้องออก พ.ร.บ.กู้เงินมาถึง 5 แสนล้านบาท เอามาแจกเงินให้คน 50 ล้านคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือ?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์