ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เพื่อหารือเป็นการส่วนตัวกับนายกฯ โดยใช้เวลา 45 นาที ก่อนเดินทางกลับโดยไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
ที่ผ่านมา อุณหภูมิในแวดวงการเงินร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ เนื่องจากมีจุดยืน และมุมมองในเรื่องของนโยบายและทิศทางเศรษฐกิจที่ไปคนละด้านอย่างสิ้นเชิง
รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา มีความเชื่อว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง และยังอยู่ในสภาพ “หยอดน้ำข้าวต้ม” จำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีมาตรการหลัก คือ การแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทและยังมีมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร และรายย่อย 3 ปี
นอกจากนี้รัฐบาลยังมองว่า ธปท.ควรเริ่มผ่อนคันเร่งในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลง และสอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลก
การตัดสินใจในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดอีก 0.25% จึงดูจะเป็นสิ่งที่สวนทางกับแนวคิดของรัฐบาลอย่างมาก ไม่นับการปรับอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลงค่อนข้างแรง จาก 3.6% เหลือเพียง 2.8% ถึงแม้ค่าดว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นในปีหน้าราว 4.4%
การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น โดยระบุว่าจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไม่ใช่การขยายตัวของเศรษฐกิจ และมีลักษณะที่บ่งบอกเป็นนัย ๆ ว่า เป็นการชิงขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อวางอัตราดอกเบี้ยแท้จริงให้เหมาะสมกับการเติบโตและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะมีมากขึ้น ซึ้งคงไม่ได้หมายความแค่ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก แต่น่าจะบวกรวมไปกับความเสี่ยงในด้านนโยบายการคลังไปด้วย จึงดูเหมือนกับเป็นการท้าทายรัฐบาลกลาย ๆ
ก่อนหน้าการเข้าพบกันในวันนี้ มีกระแสข่าวว่า มีความพยายามที่จะปรับท่าทีเข้าหากัน เพื่อหาจุดประนีประนอม โดย มีการติดต่อผ่าน คนกลางที่ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับ ที่มีชื่อของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ และรมว.คลัง เนื่องจากเป็นคนที่ ทั้ง ผู้ว่าฯธปท. และ นายกฯ เศรษฐา และ ประธานที่ปรึกษานายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้ความนับถือ
ถึงแม้จะยังไม่มีใครรู้ว่า ในการเข้าพบครั้งนี้ มีการพูดคุยเรื่องอะไรกันบ้าง แต่ท่าทีของ ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ก็บอกกับผู้สื่อข่าวว่า พร้อมตอบทุกคำถาม!
ความขัดแย้งในแนวนโยบายระหว่างฟากฝั่งการเมือง ที่คุมกลไกด้านนโนยบายการคลัง กับธปท.ที่คุมกลไกด้านนโยบายการเงินในคราวนี้ หากไล่เรียงกัน จะมีประเด็น 3 เรื่องหลัก ๆ คือ
1.การแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นนโยบายที่เปรียบเสมือนเดิมพันชนิด “เทหมดหน้าตัก” ของรัฐบาล ที่ต้องการใช้นโยบายการคลัง อัดมาตรการประชานิยมเต็มสูบ โดยการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ให้กับคนไทย 56 ล้านคน ที่ต้องใช้เม็ดเงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท
ไม่เพียงปัญหาเรื่องเม็ดเงินที่จะมาจากทางไหน ซึ่งล่าสุดมีกระแสข่าวว่า รัฐบาลอาจจะเลิกใช้วิธีการขยายเพดานภาระหนี้ หรือกรอบการยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจ หรือ ตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.การเงินการคลัง เพื่อเปิดทางให้ยืมเงินมาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อย่างธนาคารออมสิน
แต่ในทางปฎิบัติก็ยังมีปัญหาอื่น ๆ โดยเฉพาะรูปแบบของการแจกเงินว่า จะจ่ายในรูปแบบอะไร ซึ่งเดิมรัฐบาลมีแผนออกเป็น Utility Token แต่ติดปัญหาว่า ธปท. ไม่อนุญาตให้เจ้า Utility Token เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ หรือ Means of Payment ทำให้รัฐบาลต้องหาวิธีอื่นในการแจกเงินดังกล่าว และจะกำหนดเงื่อนไขอย่างไร เพื่อความสะดวกของทั้งผู้ใช้ และร้านค้า
2.นโยบายพักหนี้เกษตรกร ที่เป็นลูกหนี้รายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเรื่องนี้ ธปท. ก็ไม่เห็นด้วย โดยมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด จึงได้ทำหนังสือแสดงความเป็นห่วงส่งไปยังรัฐบาล
การพักหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย ที่กำลังจะออกมาในเร็ว ๆ นี้ ก็เป็นอีกเรื่อง ที่ธปท.เองไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ ธปท.เองก็เพิ่งมีมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยต้องการจะใช้วิธีแก้ให้ตรงจุด และอยากแก้ไปที่กลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง
3.การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ของ ธปท. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สู่ระดับ 2.5% เป็นระดับที่สูงสุดรอบ 10 ปี แม้ว่า ธปท. จะปรับลดคาดการณ์ “เศรษฐกิจ” และ “เงินเฟ้อ” ลงมามาก เหลือเติบโตแค่ 2.8% และ 1.6% ตามลำดับ จากเดิม 3.6% และ 2.5% ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำกว่าการคาดการณ์เช่นนี้ ไม่เฉพาะแค่รัฐบาลเท่านั้น แต่คนในแวดวงเศรษฐกิจเองก็ตั้งคำถามประเด็นนี้กับทาง ธปท. เช่นเดียวกัน
เชื่อกันว่า เรื่องราวระหว่าง รัฐบาลเศรษฐา กับ ธปท. ในยุคผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ อาจมีความเห็นที่ “ไม่ลงรอย” มากกว่า 3 เรื่องข้างต้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า 3 เรื่องที่หยิบยกขึ้นมานี้ กำลังนำไปสู่ “จุดแตกหัก” ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติในอนาคต หากทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถเปิดใจพูดคุยกันได้
ถึงแม้จะต้องยอมรับว่า ความเห็นต่างของทั้ง 2 ฝ่ายนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะ “ฝั่งรัฐบาล” ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในสายที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจเติบโตมาก ๆ เพื่อหวังผลทางการเมืองระยะสั้น
แต่ในทางกลับกัน ฝั่งของ ธปท. ซึ่งมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ก็มักจะอยู่ในฝั่งที่ห่วง ในเรื่องของเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นในอดีตหลาย ๆ ครั้ง และในต่างประเทศก็เคยเกิดกรณีคล้ายคลึงกันในหลาย ๆเหตุการณ์
เพราะเหตุนี้ การพบกันของทั้งคู่ในวันนี้ จึงเป็นที่จับจ้องของผู้คนในแวดวงเศรษฐกิจการเงินเป็นพิเศษ ว่า หลังจากนี้จะมีอะไรออกมาบ้าง?
แต่ที่แน่ ๆ คือ หลังจากนี้ทั้ง 2 ฝ่ายคงต้องแย่งชิงกระแส “เสียงของประชาชน” ว่า จะเทไปทางฝั่งไหน เพราะรัฐบาลเองต้องระมัดระวัง เพราะหาก ใช้วิธีการกดดันมากเกินไป ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชnjอมั่นของนักลงทุน และอาจเกิดกระแสคัดค้านนโยบายประชานิยมสุดโต่ง ที่เคยบานปลายไปสู่การโค่นรัฐบาลมาแล้ว!
ข่าวน่าสนใจ
นายกฯ ย้ำ เร่งเบิกจ่าย งบ’67 เน้นเศรษฐกิจไม่สะดุด