ดอกเบี้ยขาขึ้น บริหารเงินยังไง?

9 ส.ค. 2566 - 02:52

  • แนะแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินของตนเอง

  • สุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง นำไปสู่ความสำเร็จในการวางแผนการเงินได้ง่ายขึ้น

Economy_Money_Finance_Debt_Income_Expenses_Interest_Rising_Rates_SPACEBAR_Thumbnail_851a4c9c3a.jpeg
หลายคนคงทราบข่าวกันแล้วว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2566 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็น 2.25% จากเดิม 2.00% ต่อปี นับว่าขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งแน่นอนว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลทำให้เราจะต้องจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นในทุก ๆ เดือน ใครที่เป็นหนี้บัตรเครดิต ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรืออื่น ๆ คงต้องเตรียมรับมือกับสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นกันไว้ เพราะมีกระทบถึงทุกคนอย่างแน่นอน 

ผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น แน่นอนว่า ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ย่อมส่งผลกระทบกับทุกคนอย่างถ้วนหน้า มีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์ มาดูกันว่าใครบ้างที่ได้ที่เสีย 

กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ 
  • ผู้ที่ฝากเงินกินดอกเบี้ย หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ที่มีเงินฝากไว้ในธนาคารได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 
  • ผู้ที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงิน เช่น กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ กองทุนที่ลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นตามมา 
กลุ่มที่เสียประโยชน์ 
  • ผู้ที่มีภาระหนี้เงินกู้ การปรับดอกเบี้ยขาขึ้น มีผลกระทบโดยตรงต่อคนที่มีภาระเงินกู้ ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด สินเชื่อบ้าน ที่ถึงแม้จะจ่ายค่างวดเท่าเดิม แต่จำนวนเงินที่จ่ายส่วนดอกเบี้ยจะมากขึ้น ทำให้หักเงินต้นได้น้อยลง  
  • ผู้ประกอบการธุรกิจ ดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวงเงินสินเชื่อธุรกิจ การระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้เอกชน ที่จำเป็นต้องเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น 
บริหารเงินอย่างไรในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น 
  • รีบปิดหนี้บัตรเครดิต บัตรเงินสดดอกเบี้ยสูงให้เร็วที่สุด หรือพยายามโอนหนี้ไปยังวงเงินสินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำที่สุด 
  • คนที่กำลังจะกู้ซื้อบ้าน ควรหาโปรโมชันดอกเบี้ยคงที่ให้ได้นานที่สุด  
  • คนที่มีกู้ซื้อบ้านอยู่แล้ว หาทางรีไฟแนนซ์หาข้อเสนอดอกเบี้ยคงที่หรือเงื่อนไขที่ดีที่สุด 
  • คนที่มีเงินเย็น เป็นโอกาสดีที่จะหาผลตอบแทนจากบัญชีเงินฝากที่จะให้ดอกเบี้ยดีที่สุด หรือถ้าจะลงทุนในหุ้นกู้ ก็ให้เน้นที่หุ้นกู้ระยะสั้น เพราะจะได้มีเงินครบกำหนดหมุนเวียนมาซื้อหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยดีขึ้นกว่าเดิม
  • สายลงทุนหุ้น ต้องพิจารณาลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น กลุ่มธนาคาร ประกันชีวิต ลดการลงทุนในธุรกิจที่เสียประโยชน์ อย่าง กลุ่ม Non-Bank ลีสซิ่ง เช่าซื้อ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในภาวะที่สถานการณ์การเงินเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อสภาพการใช้จ่ายและความเป็นอยู่ของทุกคน เราจำเป็นต้องระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ 

ข้อมูล : ธ.ไทยพาณิชย์, ธ.CIMB 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์