การเงินเป็นยังไง เปิดสูตรเช็กสุขภาพทางการเงิน

7 ส.ค. 2566 - 04:38

  • แนะแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินของตนเอง

  • สุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง นำไปสู่ความสำเร็จในการวางแผนการเงินได้ง่ายขึ้น

Economy_Money_Finance_Health_Asset_Debt_Income_Expenses_SPACEBAR_Hero_454a104641.jpeg
การวางแผนการเงิน เพื่อใช้จ่ายในอนาคต สิ่งที่ควรเริ่มลงมือทำก่อน คือการตรวจสุขภาพทางการเงินของเราว่าตอนนี้เรามีสถานะการเงินเป็นอย่างไร ก็คล้าย ๆ กับการที่เราต้องไปตรวจสุขภาพร่างกายที่โรงพยาบาลว่า ตอนนี้เรามีสุขภาพร่างกายเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งการตรวจสุขภาพการเงินของเรานั้น เราจะทำการตรวจด้วยตัวเลขจากงบการเงินส่วนบุคคลกัน ซึ่งประกอบด้วย สินทรัพย์-หนี้สิน และรายได้-ค่าใช้จ่าย ที่เราจะต้องเข้าใจก่อน ถึงจะเช็กความแข็งแรงทางการเงินได้อย่างแม่นยำ 

สินทรัพย์ คือ ทรัพย์สิน เงินทอง หรือสิ่งของ ที่มีมูลค่าและเป็นของเรา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท 
  • สินทรัพย์สภาพคล่อง คือ สินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ทันที ใช้จ่ายได้สะดวก เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ทองคำ ฯลฯ 
  • สินทรัพย์เพื่อการออมและการลงทุน คือ สินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อหาผลตอบแทน เช่น หุ้นสามัญ กองทุนรวม หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล ที่ดิน ฯลฯ 
  • สินทรัพย์เพื่อใช้ส่วนตัว คือ สินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้งานเป็นหลัก เช่น บ้าน คอนโด รถยนต์ เครื่องแต่งกาย ฯลฯ 
หนี้สิน คือ ภาระผูกพันที่เราต้องชดใช้แก่ผู้อื่น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท  
  • หนี้สินระยะสั้น คือ หนี้สินที่มีกำหนดชำระคืนเงินต้นภายใน 1 ปี เช่น หนี้บัตรเครดิต ผ่อนจ่ายโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ 
  • หนี้สินระยะยาว คือ หนี้สินที่มีกำหนดชำระคืนเงินต้นมากกว่า 1 ปี เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ฯลฯ 
รายได้ คือ เงินที่เราได้รับมา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท  
  • รายได้จากการทำงาน คือ เราต้องทำงานเพื่อให้ได้เงินมา เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าคอมมิชชั่น ฯลฯ 
  • รายได้จากสินทรัพย์ คือ ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่เราไปลงทุน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ฯลฯ
  • รายได้อื่นๆ คือ เงินที่เราได้มาโดยไม่ต้องทำงานหรือลงทุน เช่น ถูกลอตเตอรี่ ได้รับของขวัญจากผู้ใหญ่ ฯลฯ
ค่าใช้จ่าย คือ เงินที่เราจ่ายออกไป แบ่งออกเป็น 3 ประเภท  
  • ค่าใช้จ่ายคงที่ คือ ค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายเท่ากันทุกเดือน เช่น ค่าผ่อนคอนโด ค่างวดรถยนต์ ฯลฯ 
  • ค่าใช้จ่ายผันแปร คือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากันในแต่ละเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ เช่น ค่ากิน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ 
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและลงทุน คือ เงินที่จ่ายออกไปเพื่อหาผลตอบแทนจากการออมหรือลงทุน เช่น ซื้อกองทุนรวม ซื้อหุ้น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ 
เมื่อเราเข้าใจถึงตรวจสุขภาพการเงินแล้ว ถึงเวลาที่เราจะมาเช็กความแข็งแรงทางการเงิน เพื่อจะได้รู้ว่าสถานะทางการเงินของเรามีความแข็งแรงดี หรือมีตรงไหนที่ต้องแก้ไขปรับปรุง ซึ่งจะมีทั้งหมด 5 สูตร 

อัตราส่วนแสดงความอยู่รอด  
สูตรนี้คำนวณจาก รายได้ต่อเดือน/ค่าใช้จ่ายต่อเดือน และควรมีมากกว่า 1 เช่น มีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 20,000 บาท จะคำนวณได้ = 30,000/20,000 = 1.5 แปลว่า อยู่รอด เพราะมีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายในแต่ละเดือน ก็ช่วยลดโอกาสในการนำเงินเก็บออกมาใช้จ่าย หรือการก่อหนี้เพิ่ม 

อัตราส่วนสภาพคล่อง 
คือ ความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้น สูตรนี้คำนวณจาก สินทรัพย์สภาพคล่อง/หนี้สินระยะสั้น และควรมีมากกว่า 1 เช่น มีสินทรัพย์สภาพคล่อง 100,000 บาท มีหนี้สินระยะสั้น 50,000 บาท จะคำนวณได้ 100,000/50,000 = 2 แปลว่า มีเงินเพียงพอ ที่จะชำระหนี้สินระยะสั้น ช่วยลดโอกาสการก่อหนี้เพิ่ม หรือการเป็นหนี้เสีย 

อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน 
ความสามารถในการเอาตัวรอดจากภาวะฉุกเฉิน สูตรนี้คำนวณจาก สินทรัพย์สภาพคล่อง/ค่าใช้จ่ายต่อเดือน และควรมี 3-6 เช่น มีสินทรัพย์สภาพคล่อง 100,000 บาท มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 20,000 บาท จะคำนวณได้ 100,000/20,000 = 5 แปลว่า มีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ช่วยลดโอกาสการรบกวนเงินลงทุนเพื่ออนาคตมาใช้จ่าย หรือการก่อหนี้เพิ่ม 

อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์  
คือ ความมั่นคงทางการเงินของเรา สูตรนี้คำนวณจาก หนี้สิน/สินทรัพย์ และควรมีไม่เกิน 0.5 เช่น เรามีหนี้สิน 1,000,000 บาท มีสินทรัพย์ 2,000,000 บาท จะคำนวณได้ 1,000,000/2,000,000 = 0.5 แปลว่า เรามีความมั่นคงทางการเงิน ช่วยเพิ่มโอกาสให้สินทรัพย์เราเติบโตมากขึ้น ไม่ต้องพะวงกับภาระดอกเบี้ยมากนัก 

อัตราส่วนแสดงความสามารถในการชำระหนี้  
สูตรนี้เน้นไปที่ยอดหนี้ที่จะถึงดีล เช่น ยอดหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ หรือยอดหนี้ที่ต้องปิด อาจจะมองเป็น 1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน หรือ 12 เดือน ข้างหน้าก็ได้ โดยสูตรนี้คำนวณจาก จำนวนหนี้ที่ต้องชำระ/รายได้ และควรมีน้อยที่สุด เช่น เรามีหนี้ที่ต้องชำระ 5,000 บาท ใน 1 เดือน ข้างหน้า แล้วคาดว่าจะมีรายได้เข้ามา 30,000 บาท ก็จะคำนวณได้ 5,000/30,000 = 0.167 แปลว่า มียอดหนี้ที่ต้องชำระน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ ช่วยลดโอกาสในการนำเงินเก็บออกมาใช้หนี้ หรือก่อหนี้เพิ่ม เพื่อความไม่ประมาท ควรคำนวณล่วงหน้าไว้สัก 12 เดือน จะได้อุ่นใจว่ามีรายได้พอใช้หนี้แน่ๆ  

ลองเช็กความแข็งแรงทางการเงิน ถ้าใครที่ได้ตามเกณฑ์ทั้งหมด ก็ถือว่ามีความแข็งแรงทางการเงินดี แต่ถ้าใครมีข้อไหนไม่ถึงเกณฑ์ ก็ต้องลองหาทางเพิ่มความแข็งแรง และหมั่นดูแลสุขภาพทางการเงินให้มากขึ้น  

ที่มา: ธปท.,ธ.กรุงศรีอยุธยา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์