3 โบรกฯ แนะหุ้นเด่น ช่วงใกล้สิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น

13 ต.ค. 2566 - 02:00

  • การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้อาจสิ้นสุดของ‘วงจรดอกเบี้ยขาขึ้น’

  • มองหุ้นกลุ่มค้าปลีก-แบงก์ รับอานิสงส์บวก

economy-money-stock- interest-SPACEBAR-Hero.jpg

จากการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 2.50% เมื่อ 27 ก.ย.66 พร้อมระบุในถ้อยแถลงว่า ‘อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว’ ทำให้เกิดการคาดการณ์ของวงการตลาดเงิน ตลาดทุน ว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้อาจเป็นจุดสิ้นสุดของ ‘วงจรดอกเบี้ยขาขึ้น’  

นักลงทุนหลายคนที่กำลังจับจังหวะการลงทุน คงจะมีคำถามว่า เมื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ส่งสัญญาณการหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยแบบนี้ ในช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้ถึงจุดสิ้นสุด สะท้อนถึงต้นทุนทางการเงินที่มีโอกาสชะลอและปรับลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน โดยจะมีกลุ่มธุรกิจใดได้รับอานิสงส์บ้าง  ทีมข่าว SPACEBAR รวมรวบความคิดเห็น 3 โบรกเกอร์ เพื่อให้นักลงทุนได้นำข้อมูลไปพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุน

INFO economy-money-stock- interest.jpg

กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จากการที่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐใกล้ถึงจุดสิ้นสุด ภาพของการลงทุนเริ่มกลับมาเป็นบวก โดยประเมินว่าจะมีเม็ดเงินจะไหลออกจาก Dollar Index  หรือ สกุลเงินดอลลาร์ ไปยังสินทรัพย์อื่นๆ (ASSET class)  จึงแนะนำนักลงทุน จัดสรรเงินในพอร์ต 15-20% เข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือ พันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่นๆ 

ถัดมาคือ กระแสเงินทุนต่างชาติ ก็ค่อนข้างจะเริ่มเป็นบวกต่อตลาดหุ้น (Equity Market) เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) พ้นจุดสูงสุด ทำให้เห็นสัญญาณส่วนชดเชยค่าความเสี่ยง (equity risk premium) ที่ชี้วัดจากผลตอบแทนคาดหวังของตลาดหุ้น เทียบกับอัตราผลตอบแทนตลาดพันธบัตร ซึ่งในปัจจุบันค่าชี้วัดดังกล่าวเริ่มแคบลง สะท้อนว่าตลาดหุ้นมีความน่าสนใจลงทุนมากขึ้น 

ตลาดหุ้นที่จะได้อานิสงส์ สำหรับในฝั่งเอเชีย ประกอบด้วย ตลาดหุ้นจีน ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นอินเดีย อาจจะเป็นจุดที่มีกระแสเงินไหล กลับเข้ามา ซึ่งก่อนหน้านี้ปรับตัวลดลงแล้ว  

 สำหรับหุ้นที่จะได้อานิสงส์หลังจากนี้แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่   

1.ภาคของการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น AOT หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และ ERW  หรือ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 

2.กลุ่มค้าปลีก เช่น CPAXT หรือ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) และ   CPALL หรือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 

3.กลุ่มที่เป็นเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) เช่น SCB หรือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) และ PTT หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

4.กลุ่มที่จะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของเอเชียที่จะโตขึ้นในช่วง Q4/66 มีความเชื่อมโยงจากความต้องการจากจีน เช่น  SCGP หรือ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) และ  IVL หรือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) 

5.กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานรากที่จะได้อานิสงส์จากนโยบายภาครัฐ เช่น  JMT หรือ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)  และ MTLS  หรือ บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) 

6. หุ้นเติบโต (High Growth) เช่น GLOBAL หรือ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) 

สอดคล้องกับ วทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ดอกเบี้ยสหรัฐอาจจะกำลังเข้าใกล้จุดสูงสุด รวมถึงนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในระดับนี้ไปอีกสักระยะ จังหวะนี้อาจจะส่งผลให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้น สาเหตุมาจากดอกเบี้ยที่ใกล้มาถึงจุดสูงสุด และมีโอกาสจะปรับลดลงในอนาคตส่งผลให้ตลาดคลายกังวล  

ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย มีการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP จะเติบโต 4.4%  ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติแตะ 35 ล้านคน ใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด รวมถึงมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการนโยบายเงินดิจิทัลเม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท ดังนั้น จะมีหลายกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เติบโต  

สำหรับหุ้นที่จะได้อานิสงส์ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่  

 1.กลุ่มค้าปลีก ได้แก่ CPALL หรือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) HMPRO หรือ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)  BJC หรือ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก  

2. กลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่  AOT หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และ CENTEL หรือ  บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)

 3.กลุ่มธนาคาร-ไฟแนนซ์ ได้แก่ BBL หรือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  KTB หรือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  และ TIDLOR  หรือ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)  

 4.กลุ่มศูนย์การค้า ได้แก่ CPN  หรือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 

ส่วนทางด้าน จิติพล พฤกษาเมธานันท์  หัวหน้ากลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจ และการลงทุนสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ในช่วงที่ดอกเบี้ยโลกอยู่ในระดับสูงส่งผลต่อตลาดพันธบัตร โดยในปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield)  ขึ้นมาสูงกว่า 4 % ปรับเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในอดีตที่ประมาณ 3 % ทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นที่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงจะได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 

ส่วนหุ้นที่จะได้ อานิสงส์เชิงบวก จากภาวะดอกเบี้ยสูงประเมินว่ามี 3 กลุ่ม ดังนี้  

1.กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์  เช่น กลุ่มพลังงาน เพราะหากดูที่ปัจจัยต้นตอที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูง ก็จะมาจากกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์  นั่นจึงทำให้มีโอกาสที่สินค้าในกลุ่มโภคภัณฑ์ที่ผลประกอบการดีขึ้น 

2.กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐและไทย ที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นภาพระยะกลางถึงระยะยาวเงินบาทจะแข็งค่ายาก เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติไม่ค่อยไหลเข้ามาในไทย  

3. กลุ่มการเงิน เนื่องจากหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังคงอยู่ระดับนี้ในระยะยาว ย่อมส่งผลดีต่อกลุ่มธนาคาร และกลุ่มประกัน  แต่อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามราคาในช่วงเข้าซื้อ และ ต้องดูผลประกอบการของบริษัทในช่วงนั้นๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์